Tax Blog

แนวทางการตั้งราคาโอนสำหรับธุรกรรมทางการเงิน ตอนที่ 3 - ข้อควรระวังในการกำหนดราคาโอนสำหรับการค้ำประกันระหว่างกันภายในกลุ่มบริษัท

หนึ่งในคำถามที่พบบ่อยที่สุดเกี่ยวกับประเด็นด้านการกำหนดราคาโอน (Transfer pricing หรือ TP) คือ การเข้าทำธุรกรรมระหว่างบริษัทที่มีความสัมพันธ์กันนั้นสอดคล้องกับหลักการอิสระ (Arm’s length principle) หรือไม่ กล่าวคือ ภายใต้สภาวการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ผลตอบแทนจากการเข้าทำธุรกรรมระหว่างบริษัทที่มีความสัมพันธ์กันสามารถเทียบเคียงได้กับผลตอบแทนของบริษัทที่ไม่มีความสัมพันธ์กันคาดว่าจะได้รับหรือไม่[1]

หากเราย้อนไปถึงบทความก่อนหน้า ที่ทางทีม Financial Services Transfer Pricing (FSTP) ของ PwC ประเทศไทย ได้นำเสนอเกี่ยวกับประเด็น (1) การกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับธุรกรรม cash pooling และ (2) การพิจารณาถึงทางเลือกอื่นในการทำธุรกิจที่สมเหตุสมผลและเป็นไปได้จริง (Realistically available options) จะพบว่า การพิจารณาว่าธุรกรรมระหว่างกันเป็นไปตามหลักการอิสระหรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้าน โดยจะครอบคลุมตั้งแต่การพิจารณาถึงหน้าที่งาน ความเสี่ยงที่แบกรับ และทรัพย์สินของคู่สัญญา ตลอดจนการพิจารณาว่าการทำธุรกรรมระหว่างกันนี้ เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด (ที่เป็นไปได้จริงและสมเหตุสมผลที่สุด) ในแง่ของผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรือไม่[2]

และในบทความนี้ ทางทีม FSTP จะพาไปเจาะลึกถึงประเด็นของการคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันทางการเงินระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน (Intra-group financial guarantee) ผ่านกรณีศึกษาในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD รวมถึงแนวทางและความคิดเห็นที่หน่วยงานภาษีมีต่อการหักค่าใช้จ่ายทางภาษีของค่าธรรมเนียมการค้ำประกันระหว่างกัน

การค้ำประกันทางการเงินระหว่างกันคืออะไร?

สำหรับบริษัทข้ามชาติ (Multinational enterprise: MNE) แล้ว เราจะพบเห็นการค้ำประกันระหว่างบริษัทในเครือได้อยู่บ่อยครั้ง โดยบริษัท (ผู้ค้ำประกัน) จะทำการค้ำประกันทางการเงินให้กับบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกัน (ผู้ได้รับการค้ำประกัน) เพื่อให้บริษัทเหล่านี้สามารถที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินที่ถูกกำหนดไว้ได้ หรือเพื่อเป็นการลดต้นทุนทางการเงินโดยรวมของทั้งกลุ่มบริษัท ทั้งนี้ การค้ำประกันทางการเงินนั้นเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมายที่ผู้ค้ำประกันจะต้องมีหน้าที่รับภาระความเสี่ยงต่าง ๆ ในกรณีที่ฝ่ายได้รับการค้ำประกันละเมิดข้อกำหนดดังกล่าว[3]

โดยการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันอาจมีหลายวิธี แต่ในบริบทของการกำหนดราคาโอน วิธีการตั้งอัตราค่าธรรมเนียมที่คู่สัญญาที่มีความสัมพันธ์กันจะเลือกใช้นั้น ต้องสอดคล้องกับหน้าที่งาน ความเสี่ยง และทรัพย์สิน ของคู่สัญญา[4] จึงทำให้การพิจารณาหาค่าธรรมเนียมการค้ำประกันตามหลักการ arm’s length อาจมีความซับซ้อน เนื่องจากธุรกรรมการค้ำประกันนั้นมักจะเกิดขึ้นระหว่างบริษัทที่มีความสัมพันธ์กัน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้ โดยหลักการที่ผู้เสียภาษีมักจะนำมาใช้คือ การวิเคราะห์ในเชิงต้นทุนและประโยชน์ (Cost-benefit analysis) ที่ผู้ได้รับการค้ำประกันจะต้องพิสูจน์ว่าต้นทุนที่ตนต้องแบกรับนั้นไม่สูงเกินกว่าประโยชน์ทางธุรกิจที่ตนพึงจะได้รับจากการได้รับการค้ำประกัน

สำหรับการเจรจาต่อรองระหว่างคู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกัน ผู้ได้รับการค้ำประกันพร้อมที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันไปยังผู้ค้ำประกันที่เป็นอิสระ (หรือสถาบันการเงิน) ก็ต่อเมื่อตนเองได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากการค้ำประกันนั้น โดยประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่อาจได้รับ หมายถึง ต้นทุนทางการเงินที่ลดลง หรือ การได้รับเงื่อนไขการกู้ยืมเงินที่ดีขึ้น (ซึ่งเป็นผลจากความน่าเชื่อถือทางการเงินที่เพิ่มขึ้น) หรือการได้รับวงเงินกู้ที่สูงขึ้น เป็นต้น[5]

ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วคู่สัญญาที่เป็นอิสระต่อกันจะไม่จ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน หากคาดว่าจะไม่ได้รับผลประโยชน์กลับมา หรือการค้ำประกันนั้นจะทำให้บริษัทผู้ค้ำประกันตกอยู่ในภาวะที่เสียผลประโยชน์ จึงกล่าวได้ว่า การจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันที่สูงเกินกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับกลับมานั้น ก็จะไม่เกิดขึ้นภายใต้ธุรกรรมระหว่างคู่สัญญาที่เป็นอิสระเช่นกัน

เรามาดูข้อพิพาทในปี 2553 ระหว่าง General Electric Capital Canada Inc. และสรรพากรแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในกรณีที่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันทางการเงินภายในกลุ่มบริษัท

กรณีพิพาทระหว่าง General Electric Capital Canada และ สรรพากรแคนาดา (ปี 2553)[6]

General Electric Capital Canada (GECC) เป็นบริษัทลูกของ General Electric Capital United States (GEUS) ซึ่งทาง S&P ได้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของ GECC ไว้ที่ B+/BB- โดยทาง GECC ได้มีการระดมทุนเพื่อนำมาใช้ในการหมุนเวียนกิจการโดยการออกตราสารหนี้ ในขณะเดียวกัน GEUS ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ AAA ได้ให้การค้ำประกันทางการเงินแก่ GECC ในอัตรา 1% ของมูลค่าตราสารหนี้ที่ตราไว้ (Principal amount)

ทั้งนี้ ทางกรมสรรพากรแคนาดาได้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตราและการจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน โดยมองว่าค่าธรรมเนียมนี้เป็นรายจ่ายต้องห้าม ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีของ GECC เนื่องจาก GECC นั้นเป็นสมาชิกของกลุ่ม GE (General Electric) จึงย่อมได้รับการสนับสนุนทางอ้อมจากกลุ่ม (Implicit support) ทำให้มีความน่าเชื่อถือทางการเงินที่ดีขึ้น และสามารถระดมเงินทุนได้ถูกลงอยู่แล้ว กรมสรรพากรแคนาดาจึงพิจารณาว่า GECC นั้นไม่ได้รับผลประโยชน์ในทางธุรกิจเพิ่มเติมจากการจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้กับ GEUS แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ทาง GECC ได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของกรมสรรพากรแคนาดา โดยแย้งว่าอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินเฉพาะองค์กร (Standalone credit rating) ของบริษัทนั้น จะสามารถปรับเพิ่มไปได้มากที่สุดถึง BBB-/BB+ (จากเดิมอยู่ที่ B+/BB-) แม้ว่าบริษัทจะได้รับการสนับสนุนทางอ้อมจากการเป็นบริษัทในกลุ่ม แต่ถ้าหาก GECC ไม่ได้รับการค้ำประกันทางการเงินจากบริษัทแม่ที่ได้รับการจัดอันดับที่ AAA ต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทก็จะต้องเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังพิสูจน์ด้วยว่า ค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน 1% ที่ทาง GECC จ่ายให้กับ GEUS นั้นเป็นไปตามหลักการอิสระ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมทั้งหมดที่ GECC จะต้องจ่ายเมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมการค้ำประกันแล้ว ก็ยังคงต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินในกรณีที่บริษัทกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินโดยได้รับเพียงแค่การสนับสนุนทางอ้อม แต่ไม่ได้รับการค้ำประกันทางการเงินจาก GEUS

ซึ่งในคดีนี้ ศาลอุทธรณ์รัฐบาลกลางแคนาดาได้ตัดสินให้ความเห็นชอบกับ GECC เนื่องจากพิสูจน์ได้ว่า GECC นั้นได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจที่มากไปกว่าการสนับสนุนทางอ้อมจากกลุ่ม กล่าวคือ GECC สามารถลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมได้เพิ่มเติม อันเป็นผลมาจากการที่ GEUS (ผู้ที่มีเครดิตระดับ AAA) ได้ค้ำประกันเงินกู้นั้นให้กับ GECC อัตราค่าธรรมเนียม 1% จึงเป็นไปตามหลักการอิสระ ด้วยเหตุนี้ GECC จึงสามารถนำรายจ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้

จากคดีดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันนั้น มีความเสี่ยงที่จะถูกมองเป็นรายจ่ายต้องห้ามทางภาษีได้บางส่วนหรือทั้งจำนวน หากบริษัทผู้จ่ายเงินนั้นไม่สามารถพิสูจน์ประโยชน์ทางธุรกิจเพิ่มเติมที่ตนได้รับนอกเหนือจากประโยชน์ทางอ้อมที่ตนพึงได้รับอยู่แต่เดิมจากการเป็นสมาชิกของกลุ่ม และหนึ่งในเหตุผลที่ผู้เสียภาษีชนะคดีนั้น เป็นเพราะว่าได้มีการเตรียมเอกสารหลักฐานอย่างครบถ้วนและรัดกุม จึงสามารถแสดงให้ศาลเห็นด้วยในหลักการและเหตุผล รวมถึงประโยชน์เพิ่มเติมที่ตนได้รับ

สภาวการณ์โดยรวมของการกำหนดราคาโอนในประเทศไทย

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD แต่จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมากรมสรรพากรไทยก็ได้มีการประเมินภาษีของธุรกรรมการค้ำประกันเงินกู้ระหว่างบริษัทที่มีความสัมพันธ์กัน และได้เคยมีการเผยแพร่ข้อหารือ (Tax ruling) เกี่ยวกับการค้ำประกันดังกล่าว ทั้งจากมุมของผู้ค้ำประกันและผู้ได้รับการค้ำประกัน

ในมุมของผู้ได้รับการค้ำประกัน ถึงแม้ว่าหลักการของการสนับสนุนทางอ้อมจากการเป็นสมาชิกของกลุ่มนั้น ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงในข้อหารือไว้อย่างชัดเจน แต่จากการตอบข้อหารือต่าง ๆ ของกรมสรรพากร พบว่า ผู้เสียภาษีจะสามารถถือเอารายจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ก็ต่อเมื่อ สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการค้ำประกัน เช่น มีเงื่อนไขและข้อกำหนดจากสถาบันการเงิน และค่าธรรมเนียมนั้นเหมาะสมกับประโยชน์ที่บริษัทได้รับ

เช่นเดียวกันกับแนวทางปฏิบัติของกลุ่มประเทศสมาชิก OECD ผู้เสียภาษีมีภาระในการพิสูจน์ว่า การเข้าทำธุรกรรมค้ำประกันนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และสอดคล้องกับหลักการอิสระหรือไม่ โดยผู้เสียภาษีจะต้องนำเอาหลักการต่าง ๆ (เช่น การวิเคราะห์เปรียบเทียบต้นทุนและผลประโยชน์ รวมไปจนถึงการพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ในการลดต้นทุนทางการเงิน) มาอธิบายต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร โดยจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางอ้อมที่บริษัทนั้นพึงจะได้รับอยู่แต่เดิมจากการเป็นสมาชิกในกลุ่ม MNE 

นอกจากนี้ การพิจารณาผลตอบแทนของผู้ค้ำประกันก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นเดียวกัน กล่าวคือ หากมีการค้ำประกันเกิดขึ้นระหว่างบริษัทในเครือ ควรมีการพิจารณาถึงผลประโยชน์ส่วนที่ผู้ได้รับการค้ำประกันจะได้รับนอกเหนือไปจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม MNE และทำการเรียกเก็บไปยังผู้ที่ได้รับการค้ำประกันด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์และกำหนดแนวทางที่ทำให้เกิดความสมดุลและครอบคลุม ทั้งในมุมมองของผู้ค้ำประกันและผู้ได้รับการค้ำประกัน

จากกรณีพิพาทต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD ประกอบกับทิศทางกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดราคาโอนของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงมีแนวโน้มว่า กรมสรรพากรไทยจะหยิบยกธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันของบริษัทในเครือมาพิจารณาและทำการทบทวนประเด็นภาษีอย่างเจาะลึกมากยิ่งขึ้น

เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงทางภาษี บริษัทที่มีการเข้าทำธุรกรรมทางการเงินกับบริษัทในเครือจึงควรที่จะทำการทบทวนและปรับปรุงนโยบายการกำหนดราคาโอนตามความเหมาะสม อีกทั้งควรที่จะต้องจัดทำเอกสารเพื่อพิสูจน์ประโยชน์ทางธุรกิจของการเข้าทำสัญญาและความเหมาะสมของค่าธรรมเนียม รวมถึงติดตามแนวทาง กฎหมาย และข้อบังคับเกี่ยวกับภาษีที่มีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง

แหล่งที่มา

[1] แนวทางที่นำเสนอโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, บทที่ 1, ย่อหน้าที่ 1.33

[2] แนวทางที่นำเสนอโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, บทที่ 1, ย่อหน้าที่ 1.38

[3] แนวทางที่นำเสนอโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, บทที่ 1, ย่อหน้าที่ 10.155

[4] แนวทางที่นำเสนอโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, บทที่ 1, ย่อหน้าที่ 10.169

[5] แนวทางที่นำเสนอโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, บทที่ 1, ย่อหน้าที่ 10.156-10.161

[6] https://tpcases.com/canada-vs-general-electric-capital-november-2010/

โดย:

  1. นพจารี วัฒนานุกิจ ผู้ช่วยหุ้นส่วนสายงานภาษีอากร บริษัท PwC ประเทศไทย
  2. วศุนธรี จรรยาทิพย์สกุล ผู้จัดการอาวุโสสายงานภาษีอากร บริษัท PwC ประเทศไทย
  3. วริศรา มหาไม้ ผู้จัดการสายงานภาษีอากร บริษัท PwC ประเทศไทย
  4. ชนิดาภา อรชร ผู้ช่วยสายงานภาษีอากร บริษัท PwC ประเทศไทย

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us