Entertainment and Media Blog

6 แนวทางรอดของอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงในยุคโควิด-19

โดย ธิตินันท์ แว่นแก้ว
หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี และหัวหน้าสายงานธุรกิจสื่อและบันเทิง บริษัท PwC ประเทศไทย

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงทั่วโลกอย่างรุนแรง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้มูลค่าการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมลดลง โดยผลสำรวจทิศทางอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิง ปี 2563-2567 ของ PwC พบว่า มูลค่าการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงทั่วโลกในปี 2563 ลดลง 5.6% ในขณะที่อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงในประเทศไทยก็ลดลง 2% เช่นกัน อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่า ในปีนี้จะสามารถฟื้นตัวได้จากการที่ธุรกิจต่าง ๆ และผู้บริโภคเองสามารถปรับตัว ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ รวมถึงภาพรวมความเชื่อมั่นที่คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นหลังหลายประเทศเริ่มมีการแจกจ่ายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ซึ่งทั้งหมดน่าจะทำให้ผู้คนเริ่มกลับมาใช้จ่ายและภาคธุรกิจกลับมาลงทุนได้ในที่สุด

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ยังนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของรูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อและบันเทิงให้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งความปกติใหม่อย่างเต็มรูปแแบ โดยบทความ Forward to normal  ที่จัดทำโดย strategy+business ได้ทำการวิเคราะห์และคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคไว้อย่างน่าสนใจ โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่

  • ด้านที่  1 การใช้ชีวิตของผู้บริโภค การที่หลายบริษัทมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน รวมทั้งมาตรการของรัฐที่ควบคุมการรวมตัวกันของคนเป็นจำนวนมากในพื้นที่สาธารณะ ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้นไปโดยปริยาย การที่คนอยู่บ้านมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการโดยมีการจัดส่งสินค้าและบริการถึงที่บ้าน และถึงแม้ว่าวันหนึ่งที่การแพร่ระบาดหมดสิ้นไป ผู้บริโภคก็จะยังสามารถได้รับสินค้า บริการ และประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้จากที่บ้านต่อไป

  • ด้านที่ 2 การค้นพบและเข้าถึงสื่อจากที่บ้าน การที่ผู้บริโภคสามารถเลือกที่จะเสพสื่อได้จากหลากหลายช่องทางมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการพัฒนา หรือหันมาประยุกต์ใช้เครื่องมือในการแนะนำช่องทางสื่อและบันเทิงที่น่าสนใจผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ คำแนะนำของพนักงานเพื่อสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วม นอกจากนี้ เราจะเห็นว่า ผู้บริโภคยังหันมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพ และการพัฒนาตัวเองในด้านต่าง ๆ จากเดิมที่ใช้จ่ายไปกับการซื้อเสื้อผ้า การเดินทาง หรือการรับประทานอาหารนอกบ้าน

  • ด้านที่ 3 ความต้องการหาประสบการณ์ใหม่ ผู้บริโภคคาดหวังกับคุณภาพของสื่อและบันเทิงที่บ้านมากขึ้น โดยต้องการประสบการณ์ที่น่าสนใจและพร้อมที่จะจ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการที่มีเนื้อหาและช่องทางที่สามารถสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับตนได้

พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนี้เอง ทำให้ผู้ประกอบการสื่อและบันเทิงต้องมีการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต โดยดิฉันขอแนะนำ 6 แนวทางในการรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ดังต่อไปนี้

  1. ความสะดวกสบายและเข้าถึงง่าย ทุกวันนี้ผู้บริโภคต้องการช่องทางที่สะดวก และสามารถเข้าถึงจากที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้  นี่เป็นหนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลที่ทำให้การใช้งานบริการวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT Video) วิดีโอเกมและสตรีมมิ่ง ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงล็อกดาวน์ ยกตัวอย่าง บริษัทขายอุปกรณ์สำหรับออกกำลังกายที่ให้บริการโปรแกรมการออกกำลังกายให้กับลูกค้าผู้ใช้เครื่องออกกำลังกายได้ผ่านคลาสปั่นจักรยาน หรือโยคะที่สมาชิกผู้ใช้สามารถร่วมออกกำลังได้จากที่บ้านเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ หรือสถาบันการศึกษาที่เมื่อผู้เรียนไม่สามารถเข้าเรียนได้ ก็หันมาเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แทน

  2. นำเสนอเนื้อหาแปลกใหม่ ความคาดหวังของผู้บริโภคจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยจะไม่ได้ต้องการเพียงแค่เนื้อหาทั่วไปที่ได้จากการเสพสื่อและบันเทิงเท่านั้น แต่ยังต้องการประสบการณ์เฉพาะที่มาพร้อมกับเนื้อหาด้วย เช่น การอ่านหนังสือบนแท็ปเล็ต นอกจากจะต้องการอ่านเนื้อหาแล้ว หลายคนยังต้องการที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น ๆ ผ่านทางชมรมหนังสือออนไลน์ที่สามารถโต้ตอบได้ ฉะนั้น ผู้ประกอบการสื่อและบันเทิงต้องตอบโจทย์ความต้องการแฝงของผู้บริโภคเหล่านี้ด้วยการนำเสนอรูปแบบเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับบริการใหม่ ๆ เสมอ 

  3. ตอบโจทย์ความต้องการส่วนบุคคล ในยุคที่ใคร ๆ ก็ต้องการบริการเฉพาะ ธุรกิจสามารถนำเสนอบริการที่ตรงใจผู้บริโภคได้ 2 มิติ คือ ผ่านเครื่องมือและผ่านคน โดยใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อค้นหาสิ่งที่ผู้ใช้งานแต่ละคนชื่นชอบก่อนนำมาประมวลผลและพัฒนาระบบให้คำแนะนำกลับไปที่ลูกค้า ในขณะเดียวกันที่ต้องพิจารณาการใช้อินฟลูเอนเซอร์หรือผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล ซึ่งการมีคนกลุ่มนี้มาแนะนำสินค้าและบริการ ก็จะทำให้ผู้ติดตามให้ความสนใจและกลายเป็นสินค้าและบริการขายดี ได้ ฉะนั้น ธุรกิจต้องเลือกใช้อิทธิพลจากคนร่วมกับการใช้เครื่องมืออย่างเหมาะสม 

  4. เชื่อมต่อโดยตรงกับผู้บริโภค การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การใช้จ่ายด้านการโฆษณาลดลงในช่วงที่ผ่านมา โดยธุรกิจสื่อและบันเทิงที่หันไปเน้นการสร้างรายได้ผ่านรูปแบบการสมัครสมาชิกและพิจารณารูปแบบการปรับราคาใหม่จะสามารถเติบโตได้ในภาวะแบบนี้ โดยคำนึงถึงความหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น บทความยังชี้ว่า ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้บริโภคมักยินดีที่จะจ่าย หากสินค้าและบริการมีคุณค่ากับตน นอกจากนี้ ยังพบว่ารูปแบบธุรกิจบริการสื่อและบันเทิงแบบบุฟเฟต์นั้นได้รับความนิยมสูงขึ้นด้วย

  5. สร้างความเชื่อมั่น เมื่อผู้บริโภคใช้เวลากับสื่อต่าง ๆ มากขึ้นในช่วงเวลาที่อยู่บ้าน พวกเขาย่อมต้องการสื่อและช่องทางในการเสพสื่อที่เชื่อถือได้ โดยสื่อที่ให้ความสำคัญกับการกลั่นกรองข้อมูล ให้ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ และกำจัดข้อมูลที่บิดเบือน จะได้รับความนิยมและการสนับสนุนมากที่สุด

  6. จับมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เช่น สื่อโทรทัศน์ควรจับมือกับแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน หรือธุรกิจเกมที่สามารถปรับแพลตฟอร์มเป็นพื้นที่จัดแสดงสินค้า หรือ คอนเสิร์ตออนไลน์ในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคยังคงต้องเว้นระยะห่างทางสังคม 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็วจะสามารถยืนอยู่ได้ในโลกยุคดิจิทัล ดังนั้น สิ่งที่ผู้นำธุรกิจต้องมีในเวลานี้คือ Sense of urgency และจัดลำดับความสำคัญว่า จะต้องทำอะไรก่อนหรือหลังเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืนในระยะยาว พร้อมทั้งอย่าลืมว่า การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ฉะนั้นต้องพร้อมที่จะแสวงหาและทดลองวิธีใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต

//จบ//

อ้างอิง

  1. Global Entertainment & Media Outlook 2020–2024, PwC

  2. Forward to normal, strategy+business

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us