โดย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์
ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย
6 กันยายน 2566
ประเด็นด้านความยั่งยืน (Sustainability) กำลังส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจไปทั่วโลก ครอบคลุมแทบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมไม่เว้นแม้แต่ ‘บริษัทนอกตลาด’ หรือ ‘ไพรเวท อิควิตี้’ (Private Equity) ที่วันนี้กำลังหันมาให้ความสำคัญกับ ‘การสร้างมูลค่า’ (Value Creation) ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุน
โดยข้อมูลจากรายงานผลสำรวจฉบับล่าสุดของ PwC ภายใต้ชื่อ Global Private Equity Responsible Investment Survey 2023 ได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการลงทุนและความยั่งยืนในกลุ่มธุรกิจไพรเวท อิควิตี้ จำนวนกว่า 150 แห่งทั่วโลก พบว่า 70% ของบริษัทไพรเวท อิควิตี้ (PE Firms) จัดให้การสร้างมูลค่าถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญสามอันดับแรกของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG)
นอกจากนี้ ปัจจัยด้าน ESG ยังได้กลายมาเป็นปัจจัยมาตรฐานที่ไพรเวท อิควิตี้ ส่วนใหญ่นำมาพิจารณาเมื่อแสวงหาโอกาสจากดีลที่น่าสนใจ ตรวจสอบสถานะ (Due Diligence) จัดทำแผนหลังการซื้อกิจการ หรือแม้กระทั่งตัดสินใจเกี่ยวกับเงื่อนไขข้อตกลงต่าง ๆ
เมื่อถามถึงประโยชน์สำคัญที่ได้รับจากการพิจารณาประเด็นด้าน ESG นั้น 64% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร ขณะที่ 55% กล่าวว่า ช่วยสร้างความแตกต่างในการแข่งขัน อย่างไรก็ดี น้อยกว่า 1 ใน 5 ระบุว่า ESG ช่วยผลักดันการเติบโตของรายได้และประสิทธิภาพของต้นทุน สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการกำหนดมูลค่าทางการเงินจาก ESG ที่ยังคงมีอยู่
นอกจากนี้ ผลจากการสำรวจอื่น ๆ ที่พบจากรายงาน ยังสะท้อนถึงการที่ ESG สามารถเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนมูลค่าในการแสวงหาโอกาสจากดีลต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง ดังต่อไปนี้
1. ไพรเวท อิควิตี้ ส่วนใหญ่ต้องการสร้างคุณค่าด้วย ESG ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนให้กับลูกค้า โดยมากกว่า 80% พิจารณาผลงานด้าน ESG ที่สอดคล้องไปกับการสร้างผลตอบแทน ในขณะที่ปัจจัยด้านกฎระเบียบข้อบังคับ (Regulation) และผลกระทบต่อมูลค่าการขายกิจการ (Impact on Exit Value) ถือเป็นเหตุผลสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ไพรเวท อิควิตี้ เพิ่มความสำคัญกับการดำเนินการด้าน ESG มากขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงจำนวนดีลที่พวกเขานำ ESG มาช่วยขับเคลื่อนการสร้างคุณค่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า 1 ใน 3 กล่าวว่า มีมากกว่า 50% ของดีลทั้งหมด
2. ไพรเวท อิควิตี้ จำนวนมากผนวก ESG เข้ากับการดำเนินธุรกิจหลักขององค์กร เห็นได้จากการนำแนวปฏิบัติด้าน ESG มาใช้จนกลายเป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรม โดยมากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า นำปัจจัยด้าน ESG มาพิจารณาตั้งแต่เริ่มมองหาโอกาสในการทำดีล และเมื่อทำการตรวจสอบสถานะ นอกจากนี้ ไพรเวท อิควิตี้ ยังนำหัวข้อด้าน ESG มาจัดทำแผนหลังการซื้อกิจการ ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจมากถึง 90% กล่าวว่า บริษัทของตนบูรณาการความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับ ESG ไว้ในแผนการเปลี่ยนแปลงทั้งแบบเป็นระบบหรือแบบเฉพาะกิจ เปรียบเทียบกับการสำรวจในปี 2563 ที่ 73%
สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อเราถามผู้ตอบแบบสำรวจว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา บริษัทของพวกเขาเปลี่ยนแนวทางการทำดีลเนื่องจากการพิจารณาด้าน ESG บ่อยแค่ไหน ผู้ตอบแบบสำรวจ 53% กล่าวว่า บริษัทของพวกเขาเลือกที่จะไม่ทำดีลอย่างน้อย 1 ครั้ง ขณะที่ประมาณ 4 ใน 10 กล่าวว่า พวกเขาแก้ไขข้อตกลงการซื้อหุ้นอย่างน้อย 1 กรณี
3. ไพรเวท อิควิตี้ เพียงไม่กี่แห่งให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางการเงินของ ESG แต่การประเมินมูลค่ายังคงเป็นความท้าทาย โดยผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่มองว่า ตนได้รับประโยชน์ในเชิงคุณค่านามธรรม (เช่น ภาพลักษณ์องค์กร และความแตกต่างในการแข่งขัน) จากการพิจารณาปัจจัยด้าน ESG มากกว่ามูลค่าของผลลัพธ์ทางการเงิน โดยมีน้อยกว่า 20% ที่มองว่าการเติบโตของรายได้ การจัดสรรเงินทุน หรือประสิทธิภาพด้านต้นทุน เป็นประโยชน์หลักจาก ESG ที่บริษัทได้รับ อย่างไรก็ตาม การขาดข้อมูลยังสามารถจำกัดความสามารถของบริษัท PE ในการระบุแหล่งที่มาของการสร้างมูลค่าจากงานของพวกเขาเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับ ESG เหล่านี้โดยเฉพาะ และในความเป็นจริง มีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่กล่าวว่า บริษัทหรือกองทุนของพวกเขารวมการพิจารณา ESG เข้ากับการวิเคราะห์การประเมินค่า (Valuation Analysis) ในทางตรงกันข้าม ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบทั้งหมดกล่าวว่า องค์กรของตนบูรณาการการพิจารณา ESG เข้ากับการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ
4. ไพรเวท อิควิตี้ แสวงหาคุณค่าของ ESG ตลอดวงจรชีวิตของดีล โดยมองว่า วาระความยั่งยืนไม่ใช่แหล่งที่มาของความเสี่ยง แต่เป็นบ่อเกิดแห่งการสร้างคุณค่าและโอกาส แต่สิ่งที่จะทำให้บริษัทชั้นนำแตกต่างออกไป คือความสามารถในการระบุและแสวงหาโอกาสที่เกี่ยวข้องกับ ESG ในทุกขั้นตอนของข้อตกลง ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายไปจนถึงออกจากธุรกิจหรือขายกิจการ
เมื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจยั่งยืนยังคงดำเนินต่อไป โอกาสในการสร้างคุณค่าให้กับกิจการจากการพิจารณาปัจจัยด้าน ESG ก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยการที่ไพรเวท อิควิตี้ หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ จะช่วยให้ธุรกิจของพวกเขาสามารถสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนและแข็งแกร่งได้ตามที่นักลงทุนต้องการ
หมายเหตุ: บทความนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ทาง The Standard Wealth
Marketing and Communications
Bangkok, PwC Thailand
Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29