Asia Pacific Net Zero Blog

ร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ก่อนจะสายเกินไป

โดย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย
29 มิถุนายน 2565

‘ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก’ มีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นหนึ่งในภูมิภาคชั้นนำของโลกที่มีประชากรและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้ กลับมีอัตราการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพียง 0.9% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึง บทบาทของเอเชียแปซิฟิกที่ต้องมีมากขึ้นในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก่อนที่จะสายเกินไป

ล่าสุด บทความ Now or never to rein in emissions: Highlights from IPCC third report and implications in Asia Pacific ของ PwC เอเชียแปซิฟิก ได้นำเสนอ 3 ประเด็นสำคัญที่ภาครัฐและภาคธุรกิจจะได้นำไปพิจารณาในการดำเนินการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศของภูมิภาค โดยอ้างอิงจากเนื้อหาส่วนที่ 3 ของรายงานการประเมินครั้งที่ 6 (The Sixth Assessment Report: AR6) ซึ่งจัดทำโดย Working Group 3 (WGIII) ในหัวข้อ ‘การบรรเทาความรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ (Mitigation of climate change) และได้ถูกเผยแพร่โดย คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC)  ดังนี้

1. สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคจะมาจากพื้นที่ใจกลางเมือง

รายงานระบุว่า สัดส่วนของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเอเชียแปซิฟิกได้เพิ่มขึ้นจาก 35% ในปี 2553 เป็น 39% ในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ เป็นผลมาจากการที่ภูมิภาคนี้ กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตของโลก นี่จึงเป็นความท้าทายของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ที่จะต้องบริหารจัดการการปล่อยก๊าซที่เกิดจากการผลิตสินค้าให้กับทั่วโลก นอกจากนี้ เอเชียแปซิฟิก ยังมีประชากรรวมกันคิดเป็น 52% ของประชากรทั่วโลก และมีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก เห็นได้จากระดับรายได้ของประชากรในภูมิภาคที่ขยับสูงขึ้น รวมถึงการขยายตัวของชนชั้นกลาง ที่ส่งผลให้พื้นที่เขตเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยคาดกันว่า เขตพื้นที่เมืองทั่วโลกที่จะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในช่วงปี 2558-2593 และส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รายงานยังระบุด้วยว่า ราว 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตตัวเมืองนี่เอง

2. หากเอเชียแปซิฟิกดำเนินการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างล่าช้า จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง

บทความฉบับนี้ ยังได้กล่าวถึงรายงาน IPCC ที่กล่าวเตือนว่า ทศวรรษนี้ จะเป็นทศวรรษที่ชี้ชะตาการยับยั้งปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบัน ยังมีช่องว่างอย่างมีนัยสำคัญในการจะบรรลุเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และหากทั่วโลกไม่มีมาตรการอื่น ๆ นอกเหนือไปจากที่ได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อปี 2563 การปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่า อุณหภูมิโลกเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นถึง 3.2 องศาเซลเซียส ภายในปลายศตวรรษนี้

นอกจากนี้ หากต้องการควบคุมการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกให้อยู่ที่ 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส จะต้องมีการดำเนินการเพื่อบรรเทาความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วนตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป เพราะหลังจากนั้น จะเป็นการยากที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส นั่นความหมายว่า ยิ่งการดำเนินการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความล่าช้ามากเท่าไหร่ จะยิ่งเป็นการยากในการบรรเทาความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากเท่านั้น โดยเอเชียแปซิฟิก ยังถือเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มว่า จะมีความเสี่ยงในการเป็นตัวการที่ทำให้การดำเนินการนี้ล่าช้า ด้วยเหตุผล  2 ประการ ได้แก่

  • ภาระความรับผิดชอบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเปลี่ยนจากกลุ่มประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว มาเป็นกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก เพราะเป็นภูมิภาคที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการบริโภคเพิ่มสูง และมีพื้นที่เมืองเติบโตมากขึ้น ดังนั้น ประเทศในเอเชียแปซิฟิก จึงต้องเร่งผลักดันแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์สำหรับเขตชุมชน

  • จากรายงาน Code Red - Asia Pacific’s Time To Go Green ของ PwC เอเชียแปซิฟิก พบว่า น้อยกว่า 25% ของรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการตั้งปณิธานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในขณะที่รัฐบาลอีกจำนวนมาก กำลังหาแนวทาง หรือ เพิ่งเริ่มต้นวางแผนเพื่อตอบสนองความคาดหวังของสังคม

3. ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีโอกาสสำคัญในการเป็นผู้นำการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แม้ว่ารัฐบาลส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ จะยังขาดการกำหนดเป้าหมายของนโยบายเพื่อบรรเทาความรุนแรงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ผลจากการสำรวจผู้นำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 25 (PwC’s 25th Global Annual CEO Survey - Asia Pacific) พบว่า ผู้นำธุรกิจในภูมิภาค มีความมุ่งมั่นและมีปณิธานที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเป็นกลางทางคาร์บอน โดย 60% ของซีอีโอที่ตอบแบบสำรวจ มี หรือ กำลังจะมีปณิธานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ สูงกว่าซีอีโอโลกที่ 51% ขณะที่ 77% มีการตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมและตรวจสอบได้ สูงกว่าซีอีโอโลกที่ 66% 

นอกจากนี้ มีบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 600 แห่ง ที่ได้ตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของโครงการริเริ่มกำหนดเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets Initiative: SBTi) และจากรายงานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-Related Financial Disclosure: TCFD) พบว่า 42% ของบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้นำกรอบการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศเมื่อปี 2563 มาใช้ และสามารถวัดปริมาณการปล่อยก๊าซตามมาตรฐาน (GHG Protocol Corporate Standard) ได้ ซึ่งแม้ว่าจะยังต่ำกว่าบริษัทในทวีปยุโรปที่ 64% แต่ก็มีความคืบหน้ากว่าภูมิภาคอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยแนวปฏิบัติ TCFD ถือว่า มีส่วนช่วยบริษัทและหน่วยงานตรวจสอบในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ขณะที่หลายประเทศและอาณาเขตในเอเชียแปซิฟิก เช่น เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ก็เป็นผู้นำอันดับแรก ๆ ในการเปิดเผยความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ตามมาด้วย จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น

ยกระดับแนวทางการแก้ปัญหา-ลงทุนเพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน

เราจะเห็นว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความต้องการของตลาดผู้บริโภคและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนั้น เอื้อต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น โดยต้นทุนต่อหน่วยของพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ลดลงมากกว่าครึ่งในช่วงปี 2553-2562 และทำให้ทั่วโลกหันมาปรับใช้พลังงานหมุนเวียนกันมากขึ้น หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก ขณะที่กระแสการลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ภายในปี 2573 ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยศักยภาพและต้นทุนการดำเนินการในระยะยาวของแต่ละประเทศ จะแตกต่างกันออกไป

แม้ว่าเวลานี้ทั่วโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน แต่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งความร่วมมือในระดับภูมิภาค จะช่วยให้ประสิทธิผลของการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เช่น ความร่วมมือในโครงการพัฒนาพลังงานสะอาด ที่เชื่อมต่อพลังงานแสงอาทิตย์ในทางเหนือของออสเตรเลีย กับ สิงคโปร์ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ยังคงมีความท้าทายอีกมากในการยับยั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบทางกายภาพ (Physical Risk) และความเสี่ยงที่เกิดจากนโยบายการเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk)  ฉะนั้น ธุรกิจในภูมิภาคจึงควรร่วมมือร่วมใจกันเพื่อเปลี่ยนความท้าทายเหล่านี้ให้เป็นโอกาสในการวางนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของตน รวมถึงลงทุนในเทคโนโลยีที่สำคัญ เพื่อร่วมช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

อ้างอิง

  1. Now or never to rein in emissions: Highlights from IPCC third report and implications in Asia Pacific, PwC Asia Pacific

  2. Code Red - Asia Pacific’s Time To Go Green, PwC Asia Pacific

  3. PwC’s 25th Global Annual CEO Survey - Asia Pacific

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us