โดย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์
ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย
22 พฤศจิกายน 2564
ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) กลายเป็นหนึ่งใน ‘เมกะเทรนด์’ ที่องค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจมาก ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนเริ่มมีการนำปัจจัยเหล่านี้มาใช้ประกอบการพิจารณาก่อนการตัดสินใจลงทุนควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าบริษัทใดที่มีการผนวกความสำคัญของ ESG เข้ากับแผนกลยุทธ์ บริษัทนั้นๆ จะสามารถขยายขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
สอดคล้องกับกระแสสังคมโลกที่ตื่นตัวในเรื่องการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น เห็นได้จากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties) หรือ ‘COP26’ ที่ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เพื่อกำหนดบทบาทของแต่ละประเทศรวมทั้งไทยในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระงับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ตลอดจนผลกระทบต่อกิจการและวิถีชีวิตของผู้คนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ทำให้กระแสการลงทุนด้าน ESG กำลังมาแรงและได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกอยู่ในเวลานี้
สำหรับ PwC เอง เราได้จัดทำผลสำรวจ 2021 Global Investor Survey ที่เปิดเผยถึงมุมมองของนักลงทุนกว่า 325 รายจากทั่วโลกต่อประเด็น ESG ในมิติของการลงทุน โดยวันนี้ผมจึงอยากนำข้อมูลบางส่วนที่น่าสนใจมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านทุกท่าน ดังนี้
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญอยู่ส่งผลให้นักลงทุนจำนวนมากหันมาแสวงหาการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้มากกว่าผลตอบแทนจากการลงทุน แต่คำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย ส่งผลให้การลงทุน ESG ได้รับความนิยม และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ผลสำรวจของ PwC พบว่า 79% ของนักลงทุนที่ถูกสำรวจ คำนึงถึงมิติ ESG ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินและการตัดสินใจลงทุน ขณะที่ 68% มองว่า ควรมีการนำเป้าหมายและผลการดำเนินงานด้าน ESG ไปประกอบการพิจารณาค่าตอบแทนผู้บริหารบริษัท นอกจากนี้ 49% ของนักลงทุนยังมีแผนที่จะถอนการลงทุนในบริษัทที่ไม่มีมาตรการในการจัดการกับปัญหา ESG อย่างเพียงพอ
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า นักลงทุนต่างแสวงหาผลตอบแทนที่ดี แต่หากบริษัทที่เราลงทุนต้องการที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน การดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญเพียงแค่ผลประกอบการและผลกำไรระยะสั้นอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลด้วย
ผลสำรวจพบว่า 75% ของนักลงทุนมองว่า การลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แม้ผลกำไรในระยะสั้นอาจจะไม่มาก หรือลดลง เพราะบริษัทต้องจัดสรรเงินลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาด้าน ESG อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงสัดส่วนของผลตอบแทนที่ลดลงที่พวกเขายอมรับได้ เพื่อแลกกับการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน พบว่า 81% ของนักลงทุนยอมรับได้ หากผลกำไรจากการลงทุนลดลงเพียง 1% หรือน้อยกว่า
ด้วยเหตุนี้ บริษัทควรหาจุดสมดุลระหว่างการบริหารผลกำไรระยะสั้นและผลตอบแทนที่ยั่งยืนที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยไม่ลืมที่จะเสริมคุณค่าให้กับองค์กรด้วย ทั้งนี้การจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสื่อสารกับนักลงทุนว่า องค์กรมีการบูรณาการกลยุทธ์ ESG เข้ากับพันธกิจของบริษัทนั้นอย่างไร และมีแผนดำเนินการอย่างไรเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายด้านการเติบโตอย่างยั่งยืนที่ตอบโจทย์ทั้งการเติบโตของผลกำไรและการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล
ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ถือเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจจากการจัดทำรายงานความยั่งยืน นอกเหนือไปจากผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัท โดยผลสำรวจของ PwC พบว่า นักลงทุนต้องการให้บริษัทเห็นความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (ประเภทที่ 1) ซึ่งหมายถึง กิจกรรมที่หน่วยงานภายในบริษัทเป็นผู้ดำเนินงานเอง และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่เกิดจากการซื้อพลังงานภายนอกองค์กร (ประเภทที่ 2) หรือกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยหน่วยงานอื่นเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อนให้แก่บริษัท
นอกจากนี้มีเพียง 1 ใน 3 ของนักลงทุนที่ถูกสำรวจที่เชื่อว่า รายงานความยั่งยืนในปัจจุบันมีคุณภาพที่ดีเพียงพอแล้ว ในขณะที่นักลงทุนจำนวนมากยังคงไม่มั่นใจว่า รายงานความยั่งยืนมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าเมื่อนโยบายด้านการรายงานความยั่งยืนของภาครัฐและหน่วยงานกำกับมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ก็จะส่งผลให้การรายงานด้านการบริหารความยั่งยืนขององค์กรทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ ยิ่งมีความสมบูรณ์และตอบโจทย์นักลงทุนมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับบริษัทจดทะเบียนไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ว่า การรายงานที่ดีจะช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินศักยภาพในการดำเนินธุรกิจขององค์กรได้อย่างยั่งยืน รวมถึงยังสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสังคมโดยรวมด้วย
เราจะเห็นว่า ESG ไม่ใช่เทรนด์การลงทุนที่เรียกกันติดหูแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่องค์กรทั่วโลกจะต้องนำปัจจัยด้าน ESG มาผนวกเข้ากับพันธกิจ กลยุทธ์ และแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กรแบบองค์รวม เพราะผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเท่านั้นที่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันจากกระแสดิสรัปชันให้กับองค์กร และลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนยุคใหม่ที่ใส่ใจประเด็นด้าน ESG มากขึ้น
แม้ว่าวันนี้องค์กรไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้นำ ESG มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจมากเท่ากับบริษัทในต่างประเทศ แต่ความตื่นตัวของหน่วยงานกำกับและความนิยมของการลงทุนอย่างมีสำนึกรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกจะเป็นแรงผลักดันให้องค์กรไทยทั้งขนาดเล็กและใหญ่เร่งนำ ESG มาผนวกเป็นกลยุทธ์สำคัญในระยะเวลาอันใกล้นี้ได้อย่างแน่นอน
หมายเหตุ: บทความนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ทาง The Standard Wealth
หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลายลงบ้าง จึงเกิดคำถามว่า พฤติกรรมผู้บริโภค ที่เปลี่ยนไปท่ามกลางวิกฤตในครั้งนี้ จะย้อนกลับไปสู่ยุคก่อนโควิด...
‘ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก’ มีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นหนึ่งในภูมิภาคชั้นนำของโลกที่มีประชากรและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่เมื่อปี 2563...
ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายๆ องค์กรทั่วโลกต้องเผชิญกับ ‘อภิมหาการลาออกของคนทำงาน’ หรือ ‘The Great Resignation’ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิกฤตโควิด ทำให้มุมมองชีวิต...
The most important question in transfer pricing (TP) is whether related companies are transacting with each other in the same manner as a transaction made...
Brand, Clients and Markets
Bangkok, PwC Thailand
Tel: +66 (0) 2844 1000,
Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26,28 and 29