
โดย วิไลพร ทวีลาภพันทอง
หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา และหัวหน้ากลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน
บริษัท PwC ประเทศไทย
30 สิงหาคม 2564
สาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นประเทศชั้นนำที่มีการพัฒนาไปสู่สังคมดิจิทัลในด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยการทำธุรกรรมผ่านเงินหยวนดิจิทัล (Digital Currency Electronic Payments: DCEP) ถือเป็นความก้าวหน้าล่าสุดของประเทศในการเป็นผู้นำการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ของโลก
“เงินหยวนดิจิทัล” ที่ว่านี้ ถือเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยธนาคารกลางของจีน (People’s Bank of China: PBOC) แทนที่การใช้เงินในรูปแบบเงินสด โดยการนำมาใช้สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลนี้ยังทำงานร่วมกับเทคโนโลยีบล็อกเชน และเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มบริการชำระเงินต่าง ๆ ทำให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การโอนเงิน หรือชำระเงินค่าสินค้าและบริการได้ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลบนโทรศัพท์มือถือ
ที่มา: China and the race for the future of money, PwC
พลวัตทางเทคโนโลยีดิจิทัลของจีน
ต้องยอมรับว่า วันนี้ประเทศจีนกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless society) เกือบจะเต็มรูปแบบ โดยถ้าเราย้อนกลับไปในปี 2543 จีนมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียง 23 ล้านคน มาวันนี้จีนมีผู้ใช้งานมากกว่า 900 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือแทบทั้งสิ้น หากเรามาพิจารณาเบื้องหลังความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลของจีน เราจะพบว่าแรงผลักดันมาจากเรื่องของขนาดและการกระจายตัวของประชากรของประเทศ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายมูลค่ามหาศาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารทางกายภาพแบบเดิม
ปัจจัยทั้งหมดล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจออนไลน์ในจีนประสบความสำเร็จอย่างสูงไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการค้าขายแบบผสมผสานระหว่างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ (Online-to-offline platform) โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้ มีระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อกันอย่าง Alipay และ Tenpay ที่มาพร้อมกับบริการ WeChat Pay ช่วยทำให้การใช้จ่ายออนไลน์เป็นไปอย่างราบรื่น มีการใช้งานที่สะดวกและครอบคลุมการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้บริการขนส่งสาธารณะ เป็นต้น
เมื่อสังคมโลกหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะดำเนินไปสู่การใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น นั่นแปลว่า ความต้องการของระบบการชำระเงินดิจิทัลก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนสู่ดิจิทัลของธุรกรรมทางการค้าและการชำระเงินที่ว่านี้จะสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล ที่จะสามารถเข้ามาช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกรรม ลดต้นทุน เพิ่มความคล่องตัวให้กับเส้นทางการเงิน และบันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมได้ในทันที
กระแสความแรงของตลาดสกุลเงินดิจิทัล
กระแสความแรงของตลาดสกุลเงินดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ในปัจจุบันมีธนาคารกลางทั่วโลกมากกว่า 85% รวมถึงประเทศไทยทำการศึกษาและพัฒนาโครงการสกุลเงินดิจิทัลของตัวเอง โดยรายงาน CBDC global index ของ PwC ได้มีการจัดอันดับการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ทั่วโลกพบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างธนาคาร (Interbank or Wholesale CBDC) มากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ร่วมกับเขตปกครองพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนจาก “โครงการอินทนนท์-ไลออนร็อก”
สำหรับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน ในปี 2563 มีการทำธุรกรรมผ่านเงินหยวนดิจิทัล (DCEP) มากกว่าหลายล้านธุรกรรม มีมูลค่ารวมกันกว่าหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจีนได้ทดลองการทำธุรกรรมผ่านเงินหยวนดิจิทัลกับธุรกิจกว่าหลายพันรายและทดลองใช้งานกับผู้บริโภคโดยตรงผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย เช่น กิจกรรมชิงโชค แจกอั่งเปามูลค่าซองละ 200 หยวนดิจิทัล รวมมูลค่า 100,000 หยวนในช่วงเทศกาลเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
แม้ความนิยมในการใช้เงินหยวนดิจิทัลในช่วงเริ่มต้นอาจจะยังมีไม่มาก แต่เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลและเปลี่ยนรูปแบบการค้าขายไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ศักยภาพของเงินหยวนดิจิทัลมีมากและอาจขยายวงกว้างออกไปจนทำให้เงินหยวนดิจิทัลเทียบชั้นกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและสกุลเงินยูโรในตลาดการเงินโลกได้ในที่สุด
จับตาการใช้งานสกุลเงินดิจิทัล
บทความเรื่อง China and the race for the future of money ของ PwC ได้ระบุถึงแนวโน้มของการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงความก้าวหน้าในเรื่องดังกล่าวในประเทศจีนไว้ได้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้
กฎระเบียบข้อบังคับจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล ปัจจุบันธนาคารกลาง และหน่วยงานกำกับดูแลการเงินทั่วโลกได้เร่งศึกษาถึงแนวทางในการกำกับดูแลเพื่อสร้างความชัดเจนในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เช่น ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชียอย่าง เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ที่ได้มีการศึกษาถึงกรอบการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี ในขณะที่ The Office of the Comptroller of the Currency หรือ OCC ของสหรัฐอเมริกา ก็ได้อนุญาตให้ธนาคารในสหรัฐฯ สามารถใช้สเตเบิ้ลคอยน์ (Stablecoins) ในกิจกรรมการชำระเงิน รวมถึงเป็นโหนดอิสระเพื่อตรวจสอบธุรกรรมบนบล็อกเชนได้ เป็นต้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดสกุลเงินดิจิทัล นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้สถาบันทางการเงินแบบดั้งเดิมได้คิดใคร่ครวญถึงการเข้าสู่เวทีทางการเงินในรูปแบบใหม่นี้ด้วย
ธนาคารและสถาบันการเงินอื่น ๆ จะเป็นแนวหน้าของการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนไปสู่การใช้งานสกุลเงินดิจิทัล ต้องอาศัยระบบการจัดการแบบใหม่ พร้อมกับเงินทุนสำหรับค่าดำเนินการและต้นทุนในการปฏิบัติตาม ทำให้หลายธนาคารได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่สร้างรายได้จากการจัดการเงินดิจิทัลขึ้น เช่น บริการให้คำปรึกษาด้านสกุลเงินดิจิทัล การออกผลิตภัณฑ์การบริหารสินทรัพย์ดิจิทัล หรือแม้กระทั่ง บริการรับฝากทรัพย์สินสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งเราเชื่อว่า การร่วมมือกันระหว่างฟินเทค และธนาคารพาณิชย์จะยิ่งเปิดโอกาสให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด และจะยิ่งทำให้นักลงทุนมีความสนใจในตลาดนี้มากขึ้น
การทำธุรกรรมผ่านสกุลเงินดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การทำธุรกรรมทางดิจิทัลเกิดขึ้นเพียงใช้นิ้วสัมผัสหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ให้บริการการชำระเงินในจีนประสบความสำเร็จมากกว่าผู้เล่นในประเทศอื่น ๆ ฉะนั้น เมื่อการใช้สกุลเงินดิจิทัลยิ่งเติบโต แรงกดดันก็จะตกอยู่ที่บริษัททางการเงินและไม่ใช่ทางการเงิน ในการต้องนำเสนอทางเลือกในการชำระเงินแบบดิจิทัล และสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า เราจะเห็นว่า Facebook มีเป้าหมายให้การโอนเงินสกุล Diem ทำได้ง่ายเหมือนการส่งข้อความ รวมทั้งต้องช่วยลดค่าธรรมเนียมราคาแพงด้วย เป็นต้น
ความก้าวหน้าในการประกอบธุรกิจแบบธุรกิจสู่ผู้บริโภค (Business-to-Customer: B2C) ด้วยสกุลเงินดิจิทัลจะนำไปสู่การขยายธุรกรรมแบบธุรกิจทำกับธุรกิจ (Business-to-Business: B2B) ภายในประเทศและข้ามพรมแดน ซึ่งการมีระบบธนาคารที่แข็งแกร่งของจีน น่าจะช่วยให้จีนเป็นผู้นำในการขยายระบบการชำระเงินไปสู่ธุรกิจ B2B ได้อย่างแพร่หลายในที่สุด
ผู้นำองค์กรต้องมีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคของสกุลเงินดิจิทัล เราจะเห็นว่าปัจจุบันมีบริษัทหลายแห่งทั่วโลกที่เริ่มถือครองสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น เพราะเห็นถึงศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าพอร์ตการลงทุน ด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลก็มีความพร้อมมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นผลมาจากการดำเนินการด้านกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแล ในขณะที่การซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลในตลาดก็ได้เฮดจ์ฟันด์เข้ามาเสริมสภาพคล่อง บทความของ PwC ยังชี้ว่า เครื่องมือในการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีและกลยุทธ์ทางการเงินใหม่ ๆ ประกอบกับกระแสของการควบรวมระหว่างบริษัทผู้เล่นสกุลเงินดิจิทัลที่มีมากขึ้นจะส่งผลให้ตลาดมีความคึกคัก ดังนั้นผู้บริหารจะต้องสรรหาบุคลากรที่มีความรู้ทางการเงินเชิงลึก มีการเฝ้าระวังที่มากขึ้น รวมถึงความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีของหน่วยงานกำกับและหน่วยงานภาษีที่เพิ่มมากขึ้นน่าจะช่วยให้ตลาดยิ่งเป็นที่รู้จักในระยะต่อไป
ภูมิทัศน์ทางการเงินที่กำลังเปลี่ยนไปนี้ทำให้เราเชื่อว่าจะมีบริษัทจำนวนมากขึ้นที่หันมาศึกษาการทำธุรกรรมผ่านสกุลเงินดิจิทัล โดยเราคงต้องจับตาดูพัฒนาการของการออกกฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานกำกับดูแลของจีน รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติของบริษัทในจีนด้วย แต่สิ่งที่น่าจับตาไม่แพ้กันคือ การเปิดตัวเงินหยวนดิจิทัลอย่างเป็นทางการในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ณ กรุงปักกิ่ง ในปี 2565 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เราคงจะได้เห็นถึงศักยภาพที่แท้จริงและทิศทางในอนาคตที่ชัดเจนมากขึ้นของการใช้งานสกุลเงินนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจและระบบเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน
อ้างอิง:
Marketing and Communications
Bangkok, PwC Thailand
Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29