Beyond COVID-19 Blog

5 กุญแจสำคัญเพื่อรับมือโลกหลังวิกฤตโควิด-19 ของกลุ่มธุรกิจธนาคารและตลาดทุน

โดย บุญเลิศ กมลชนกกุล
หุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย
26 สิงหาคม 2563

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกจะเริ่มคลี่คลาย รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้ แต่กลุ่มธุรกิจธนาคารและตลาดทุน (Banking and Capital Markets: BCM) ยังคงเผชิญกับความท้าทายในช่วงหลังการแพร่ระบาด ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศถดถอย รวมทั้งผลกระทบจากมาตรการของภาครัฐที่ต้องการให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนและประชาชน ทำให้ธุรกิจธนาคารและตลาดทุนต้องหันมาให้ความสำคัญกับการวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับโลกหลังโควิด-19 ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว อย่างไรก็ดี นี่ถือเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่มธนาคารและตลาดทุนจะปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจเพื่อสร้างเสถียรภาพและการเติบโตที่ยั่งยืน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมได้

เราจะเห็นว่า ในปัจจุบันธุรกิจธนาคารและตลาดทุนต่างเน้นไปที่การช่วยเหลือลูกค้า และสนับสนุนนโยบายจากภาครัฐ รวมถึงดูแลพนักงานเพื่อเตรียมตัวกลับเข้าทำงานในรูปแบบปกติใหม่ (New Normal) นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล 

สำหรับกลยุทธ์ในระยะยาว องค์กรยิ่งต้องปรับกระบวนการทำงานให้คล่องตัว และมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับเตรียมความพร้อมขององค์กรและกำลังคนไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นอกเหนือไปจากการวางแผนพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าเดิมและเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าใหม่ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งทาง PwC ได้จัดทำ 5 กุญแจสำคัญสำหรับการปรับตัวสู่โลกหลังยุคโควิด-19 ของกลุ่มธุรกิจธนาคารและตลาดทุน โดยประเมินว่า ผู้ประกอบการมีทั้งแผนที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนและแผนสำหรับเตรียมพร้อมเพื่อการเติบโตในอนาคต ดังนี้

  1. ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่น
    กลุ่มธุรกิจธนาคารและตลาดทุนมีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกับภาครัฐ หน่วยงานกำกับ กลุ่มลูกค้าและผู้ประกอบการในการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือลูกค้าทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งช่วยสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งความช่วยเหลือเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และเร่งการฟื้นตัวขององค์กรในอนาคต อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่กลุ่มธุรกิจธนาคารและตลาดทุนจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและสังคมด้วย
  2. ปรับกระบวนการทำงานให้พร้อมสำหรับการกลับเข้าทำงานในสถานที่ทำงานของพนักงาน
    ผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ทำให้ทุกธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานกันอย่างเร่งด่วน ในเวลานี้เมื่อสถานการณ์เริ่มลดระดับความรุนแรง ทำให้มีการผ่อนปรนมาตรการและพนักงานเริ่มกลับเข้ามาทำงานที่สถานที่ทำงานได้ องค์กรต้องสร้างความเชื่อมั่นและปรับรูปแบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่น โดยต้องวางแผนกลยุทธ์ให้มีความสมดุลระหว่างการสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และมองถึงการปรับให้องค์กรมีความคล่องตัวในระยะยาว เช่น การส่งเสริมให้พนักงานสามารถทำงานจากภายนอกได้ และสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ขององค์กรได้อย่างรวดเร็วผ่านเทคโนโลยีหรือโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งพนักงานและลูกค้า อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้แนวคิด หรือกรอบการทำงานแบบเดิมที่เคยใช้ก่อนเกิดวิกฤต แม้การแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลง องค์กรควรมุ่งเน้นการทำงานที่ยืดหยุ่น และพร้อมที่จะปรับตัวอยู่เสมอ
  3. ใช้ประโยชน์จากโอกาสในการเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล
    กระแสของการเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในกลุ่มธุรกิจธนาคารและตลาดทุนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีหลายองค์กรในธุรกิจนี้ที่ไม่สามารถปรับตัวเป็นดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ และอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการแปลงเป็นดิจิทัลได้เต็มศักยภาพสูงสุดของมัน ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นโอกาสที่ช่วยให้ธุรกิจเร่งเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัลได้เร็วขึ้น รวมถึงการยกระดับทักษะแรงงานที่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะในยามวิกฤตเช่นนี้ องค์กรต้องมีแรงงานที่มีทั้งทักษะที่ต้องการ มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง
  4. ขับเคลื่อนกระแสการควบรวมกิจการ
    การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านอุปสงค์ โซ่อุปทาน และผลตอบแทนในกลุ่มธุรกิจธนาคารและตลาดทุน เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย บีบให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ของธนาคารลดลง นี่อาจทำให้กระแสการควบรวมกิจการกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังสถานการณ์คลี่คลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับมือเป็นพันธมิตรและการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจในด้านต่าง ๆ ก็จะมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและเป็นการขยายช่องทางการให้บริการเพื่อช่วยองค์กรให้ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป
  5. สร้างสมดุลระหว่างการมีเสถียรภาพและการเติบโต
    การฟื้นตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังคงมีความผันผวน และรูปแบบของผลกระทบและระยะของการฟื้นตัวของแต่ละอุตสาหกรรมก็แตกต่างกันอีกด้วย ดังนั้น ธุรกิจต้องประเมินความพร้อมขององค์กรทั้งในส่วนของรายได้ กำไร ฐานทุน และการสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นเพื่อให้แน่ใจว่า ธุรกิจจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้และมีความคล่องตัวเพียงพอเมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป ขณะเดียวก็ต้องมีการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และมีการบริหารความเสี่ยงขององค์กรที่เหมาะสมด้วย 

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า 5 แนวทางในการปรับตัวข้างต้นนี้ จะช่วยจุดประกายกลยุทธ์ในโลกหลังโควิด-19 ให้แก่ธุรกิจธนาคารและตลาดทุนได้ไม่มากก็น้อย แม้ว่าในเวลานี้ทุกธุรกิจ รวมถึงธุรกิจธนาคารและตลาดทุนจะเผชิญความยากลำบากอยู่ก็ตาม แต่ผมเชื่อว่า ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส หากเรามีการวางแผนการรับมือที่ดี มีการบริหารสภาพคล่องและความเสี่ยงที่เหมาะสม พร้อม ๆ กับหมั่นทบทวนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เป็นประจำ เราก็จะสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันได้เหมือนเช่นที่ผ่านมา 

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us