Digital Upskilling Blog

Upskilling แรงงานอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

โดย รินรัตน์ ภาสเวคิน หุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย
27 กุมภาพันธ์ 2563

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เทคโนโลยีเกิดใหม่ในโลกยุคดิจิทัลช่วยทำให้ชีวิตประจำวันของเราทั้งที่บ้านและที่ทำงานมีความสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สมาร์ทโฮม เช่น ระบบรักษาความปลอดภัยภายในบ้านที่แจ้งเตือนเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น ระบบควบคุมแสงสว่างและอุณหภูมิภายในที่ทำงาน หรือระบบโต้ตอบลูกค้าอัตโนมัติ รวมไปถึงอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ และหุ่นยนต์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ  

ฟัง ๆ ดูแล้วความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจเป็นเรื่องที่ทันสมัยและน่าตื่นเต้น หากเรามองในมุมของการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายและสร้างความน่ากังวลให้กับนายจ้างและลูกจ้างไม่ใช่น้อย เพราะการทำงานในโลกยุคนี้และยุคหน้า จะยิ่งต้องการแรงงานที่มีทักษะที่หลากหลายและมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลมากขึ้น  

นี่จึงเป็นที่มาของกระแสการยกระดับทักษะแรงงาน (Upskilling) โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นิตยสาร Strategy+business ของเครือข่าย PwC ได้ตีพิมพ์บทความที่น่าสนใจภายใต้หัวข้อ The case for change: New world. New skills. ระบุว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี โดยครึ่งหนึ่งจะกระทบกับแรงงานที่ใช้ทักษะน้อยและอีก 1 ใน 3 จะกระทบกับแรงงานกึ่งฝีมือ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการต้องยกระดับทักษะแรงงานเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ในขณะเดียวกัน สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายในการยกระดับทักษะแรงงานนั้นสูงลิ่ว โดยค่าใช้จ่ายในการยกระดับทักษะแรงงานจำนวน 1.37 ล้านคนในสหรัฐอเมริกา ต้องใช้เงินสูงถึง 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.08 ล้านล้านบาท1) หรือราว 24,800 ดอลลาร์ (780,000 บาท) ต่อคน 

บทความชี้ว่า แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะสูงจนน่าตกใจ แต่การนิ่งเฉยโดยไม่ทำอะไรเลย จะยิ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้มากกว่า เพราะการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะที่ต้องการ ได้กลายเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลให้งานจำนวนหลายล้านตำแหน่งในเวลานี้ต้องว่างลง เพราะนายจ้างไม่สามารถหาแรงงานที่เหมาะสมมาทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ ได้ 

ด้วยเหตุนี้ การยกระดับทักษะแรงงาน จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ทั้งผู้นำองค์กร สังคม และประเทศต้องเร่งผลักดันเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงแรงงานในอนาคตที่กำลังจะเข้าสู่ตลาด โดยในระดับองค์กร การยกระดับทักษะจะเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้เสริมองค์ความรู้และเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต (Hard skills) นอกจากนี้ ยังช่วยปรับวิธีคิดและทัศนคติให้พนักงานได้เรียนรู้ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ด้วย เพราะอย่าลืมว่า เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในวันนี้ อาจหมดความสำคัญ ถูกเลิกใช้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หรืออาจมีเทคโนโลยีอื่นเข้ามาแทนที่ ดังนั้น การเรียนรู้ที่จะปรับตัว หรือมีทักษะทางอารมณ์ (Soft skills) เช่น ภาวะความเป็นผู้นำ การแก้ปัญหา และการสื่อสาร ก็จะเป็นการยกระดับทักษะที่ยั่งยืนอีกทางหนึ่งด้วย 

บทความชิ้นนี้ยังกล่าวต่อว่า แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะแสดงความกังวลถึงความมั่นคงในอาชีพของตนหลังการเข้ามาของเทคโนโลยี แต่ก็ยังยินดีที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ โดยการเขียนโค้ดอาจมีความจำเป็นสำหรับคนในบางอาชีพ ในขณะที่อีกหลาย ๆ อาชีพอาจจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจเทคโนโลยีอย่างเอไอ การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง และวิธีการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมมากกว่า ซึ่งกระบวนการยกระดับทักษะแรงงานจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ ก็ต่อเมื่อพนักงานได้ใช้ทักษะและความรู้ใหม่ที่ได้รับในการทำงานจริง ผ่านวิธีการฝึกอบรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การสอนในห้องเรียน การใช้มัลติมีเดียหรือเกมเป็นสื่อการสอน หรือเรียนรู้ผ่านการคิดริเริ่มโครงการต่าง ๆ และแบ่งปันประสบการณ์การทำงานที่ได้กับทีมงาน เป็นต้น

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การยกระดับทักษะแรงงานไม่ใช่เรื่องของภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและสถาบันการศึกษาด้วย โดยรัฐบาลในแต่ละประเทศต้องศึกษาและพัฒนาวิธีการที่เหมาะสมกับประชากรศาสตร์ ระดับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีของตัวเองเพื่อหาแนวทางในการยกระดับทักษะแรงงาน โดยบทความ How do we upskill a billion people by 2030? Leadership and collaboration will be key ของ PwC ยังได้เสนอแนะทางออกสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ผู้นำธุรกิจ ต้องทบทวนตำแหน่งงานที่จำเป็นขององค์กร พร้อมทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม และควรศึกษาถึงการลงทุนในการยกระดับทักษะให้กับพนักงาน  

  • ผู้นำภาครัฐ รวมถึงผู้กำหนดนโยบาย ต้องมีมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนทุกระดับมีความพร้อมสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้ดิจิทัล (Digital Economy) ครอบคลุมทั้งแรงงานปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ที่กำลังตบเท้าเข้าสู่ตลาดแรงงาน ผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงทักษะดิจิทัล หรือ คนที่มีทักษะที่ไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป

  • ผู้นำภาคการศึกษา สถาบันการศึกษาต้องปฏิรูปตัวเองให้ทันต่อยุคดิจิทัลและต้องมีความสามารถในการติดอาวุธทางปัญญาให้แก่นักเรียน นักศึกษา โดยทักษะดังกล่าว ต้องเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง 

ในปีที่ผ่านมา เราเห็นองค์กรชั้นนำทั่วโลกหลายรายต่างให้ความสำคัญกับการเร่งยกระดับทักษะพนักงานของตน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาอย่าง อเมซอน (Amazon) ที่ได้ประกาศลงทุน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อยกระดับทักษะพนักงานจำนวน 100,000 คน ในส่วนของ PwC เองก็ได้ประกาศลงทุนราว 3 พันล้านดอลลาร์เพื่อยกระดับทักษะแรงงานของเราภายใน 4 ปีด้วยเช่นกัน

ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน แม้ว่าการยกระดับทักษะจะไม่ใช่เรื่องง่ายและมีค่าใช้จ่ายสูงแค่ไหน แต่เชื่อเถอะว่า Upskill จะเป็นทางรอดสำคัญขององค์กร สังคม และประเทศชาติ

//จบ//

หมายเหตุ: บทความนี้ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ทางคอลัมน์กุนซือโลกการเงิน สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

1 อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.62 บาท (ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563) 

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us