Cybersecurity Blog

5 เทคโนโลยีใหม่สู้ภัยไซเบอร์

28 พฤศจิกายน 2561

โดย วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย

“ความปลอดภัยทางไซเบอร์” กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดอยู่อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะเราอยู่ในโลกดิจิทัลที่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ ไอโอที บิ๊กดาต้า หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และการบริการออนไลน์ต่างๆ นำมาซึ่งประโยชน์และความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพราะในขณะที่ธุรกิจกำลังใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ บรรดาแฮกเกอร์และอาชญากรทางไซเบอร์ก็จ้องที่จะคอยโจมตีเพื่อขโมยข้อมูล หรือเข้ามาป่วนระบบ สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลให้แก่ธุรกิจ ในเวลาเดียวกัน ผู้บริโภคก็กำลังเผชิญกับการถูกคุกคามจากการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปแอบอ้าง หรือ การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต เพื่อขอข้อมูลที่สำคัญทางอีเมล์ 

 

 

ผลสำรวจ Global State of Information Security® Survey ของ PwC ในปีล่าสุด ที่ทำการศึกษาความคิดเห็นของผู้บริหารและผู้นำด้านไอทีจำนวน 9,500 คนจาก 122 ประเทศทั่วโลกพบว่า ผู้บริหารถึง 40% คาดว่า ผลจากการถูกโจมตีระบบอัตโนมัติและระบบหุ่นยนต์จะส่งผลให้ระบบปฏิบัติการและการผลิตต้องหยุดชะงักมากที่สุด ตามมาด้วยการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญ ผลกระทบเชิงลบต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้ และอื่นๆ   

แต่แม้ว่า ความกังวลเกี่ยวกับภัยไซเบอร์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก ก็ไม่ได้ทำให้การประยุต์ใช้นวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้ลดลง ในทางตรงกันข้าม ผู้บริหารกลับมีแผนในการใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับภัยที่มากับเทคโนโลยีหรือเรียกว่า แก้ปัญหาแบบ “เกลือจิ้มเกลือ” มากขึ้น โดยวันนี้ ดิฉันขอยกตัวอย่าง 5 เทคโนโลยีสำคัญที่ผู้บริหารควรรู้ และสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับองค์กรได้ ดังนี้



ผลจากการถูกโจมตีระบบอัตโนมัติและระบบหุ่นยนต์จะส่งผลให้ระบบปฏิบัติการและการผลิตต้องหยุดชะงักมากที่สุด (ที่มา: Global State of Information Security® Survey, PwC)
  1. เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ บริษัทเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่ง PwC เองได้มีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชน ทั้งนี้เพราะบล็อกเชนมีศักยภาพในการช่วยแก้ปัญหาความปลอดภัยที่สถาบันการเงินทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ รวมไปถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การผลิต เวชภัณฑ์ คมนาคมขนส่ง และความปลอดภัยของระบบซัพพลายเชน โดยบล็อกเชนเป็นระบบที่แยกเก็บบัญชีธุรกรรมไว้ในที่ต่างๆ โดยกระจายฐานข้อมูลแยกศูนย์แต่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายแบบเพียร์ทูเพียร์ หรือระบบที่ทุกคนแชร์ข้อมูลกันไปมาโดยไม่มีศูนย์กลางได้ ทำให้สามารถตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เที่ยงตรง และมีความโปร่งใส
  2. ระบบความปลอดภัยของคลาวด์ (Cloud security) กระแสของการเคลื่อนย้ายข้อมูลมาไว้บนคลาวด์กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะช่วยให้ธุรกิจจำนวนมากสามารถแก้ปัญหาความปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงได้ประโยชน์จากการได้รับข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า หากเลือก Cloud provider ที่เหมาะสมจะมีการดูแลข้อมูลได้ดีกว่าท่านดูแลระบบเอง
  3. การยืนยันตัวตนขั้นสูง (Advanced authentication) ปัจจุบันองค์กรมีการนำเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนหลาย Factor มาใช้อย่างแพร่หลาย โดยหลังจากที่ผู้ใช้ใส่ชื่อและรหัสแล้ว จะได้รับรหัสลับจากข้อความบนมือถือเพื่อทำการยืนยันอีกครั้ง ซึ่งวิธีการนี้ช่วยตอบโจทย์ทั้งในเรื่องความปลอดภัยของบัญชีผู้ใช้ และยังช่วยแจ้งเจ้าของบัญชีให้ทราบในกรณีมีผู้ไม่ได้รับอนุญาตทำการเข้าบัญชีของตน  นอกจากนี้ ยังมีการยืนยันตัวตนด้วยระบบอื่นๆ เช่น การสแกนลายนิ้วมือ ม่านตา หรือใบหน้า ซึ่งเป็นการยืนยันตัวตนด้วยระบบชีวภาพ พร้อมทั้งมีระบบที่จะรีเซ็ต หรือ ล็อคโดยอัตโนมัติหากมีการใส่รหัสผิด ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ช่วยให้องค์กรมีระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลมากขึ้น เราจะได้เห็น Behaviour-based authentication เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
  4. การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine learning) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ถูกนำมาใช้ในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ดีขึ้น ด้วยระบบการเรียนรู้ของเครื่องที่มีความก้าวหน้าและช่วยคาดการณ์จุดอ่อนที่อาจถูกแฮกเกอร์โจมตีได้
  5. การเข้ารหัส (Encryption) หรือกระบวนการแปลงข้อมูลให้เป็นรหัสลับ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่กลับมีการถูกใช้งานค่อนข้างจำกัดในแวดวงธุรกิจในอดีตที่ผ่านมา ในปัจจุบันการเข้ารหัสกลายมาเป็นเครื่องมือของแพลตฟอร์มที่เกี่ยวกับการสื่อสารมากมายเช่น จีเมล์ หรือแอปพลิเคชันที่ใช้สำหรับพูดคุยกัน เช่น วอทแอพ และ อุปกรณ์ไอโฟน ซึ่งเทคโนโลยีนี้ ช่วยปกป้องข้อมูลไม่ให้ถูกขโมย หรือรั่วไหลได้มากขึ้น เพราะการแปลงข้อมูลให้เป็นรหัสลับ ทำให้บุคคลอื่นไม่สามารถอ่านข้อมูลได้ แต่จะให้ถูกอ่านได้เฉพาะบุคคลที่เราต้องการให้อ่านได้เท่านั้น

 

แม้เทคโนโลยีจะช่วยธุรกิจป้องกันภัยจากไซเบอร์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ความพร้อมของบุคลากรก็เป็นอีกกุญแจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์นั้นสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งน่าเสียดายว่า จากผลสำรวจฉบับนี้พบว่า 40% ขององค์กรทั่วโลก ยังไม่มีโปรแกรมอบรมพนักงานเพื่อเตรียมรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และมากกว่าครึ่ง (54%) ยังไม่มีแม้กระทั่งกระบวนการรับมือในกรณีถูกจู่โจม

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทั่วโลกหรือแม้กระทั่งธุรกิจไทยเองก็ต้องเสริมทัพของตนเองให้พร้อมในทุกด้าน โดยนอกจากจะลงทุนด้านระบบรักษาความปลอดภัยแล้ว ควรจัดให้มีการฝึกอบรมพนักงานให้ตระหนักถึงความสำคัญและรู้ทันภัยคุกคามทางไซเบอร์รูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งแต่งตั้งทีมให้คำปรึกษาในการสร้างระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมที่จะจัดทำนโยบายความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เพราะในปัจจุบันหลายประเทศมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น กฎหมายจีดีพีอาร์ของสหภาพยุโรป ในขณะที่ประเทศไทยเองน่าจะคลอดกฎหมายที่คล้ายคลึงกันออกมาในไม่ช้านี้ด้วย เห็นไหมคะว่า เทคโนโลยีนั้นมีคุณอนันต์ แต่จะไม่มีโทษมหันต์เลย หากเราเรียนรู้ที่จะป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงอย่างชาญฉลาดตั้งแต่เนิ่นๆ

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. How blockchain, cloud, and other emerging technologies are changing cybersecurity, PwC: https://www.pwc.com/ca/en/services/consulting/perspective/cyber-hub/cyber-how-blockchain-cloud-and-other-emerging-technologies-are-changing-cybersecurity.html
  2. Strengthening digital society against cyber shocks - Key findings from the Global State of Information Security® Survey 2018, PwC: https://www.pwc.com/us/en/services/consulting/cybersecurity/library/information-security-survey/strengthening-digital-society-against-cyber-shocks.html
  3. PwC | Next in Tech, by David Burg : http://usblogs.pwc.com/emerging-technology/changing-cybersecurity/

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

We unite expertise and tech so you can outthink, outpace and outperform
See how
Follow us