FinTech Blog

 

รู้ทันอนาคตและความท้าทายก่อน “ไอซีโอ” 

30 มีนาคม 2561

โดย วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC  ประเทศไทย 

“ICO” (Initial Coin Offering) ถือเป็นการระดมทุนประเภทหนึ่งโดยทำผ่านการเสนอขายเหรียญดิจิทัล (Digital Token) ที่จัดเก็บบนเทคโนโลยีบล็อกเชนกำลังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจของบรรดาบริษัทที่ต้องการระดมทุนผ่านช่องทางอื่นนอกเหนือจากการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนครั้งแรก หรือ “ไอพีโอ” (Initial Public Offering: IPO) และการร่วมลงทุน (Venture Capital) ซึ่งเป็นการระดมทุนในส่วนของเจ้าของเพื่อลงทุนในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง

แม้ว่ากระแสของการระดมทุนในรูปแบบนี้ จะยังเป็นเรื่องใหม่ของใครหลายคน แต่ก็เป็นที่สนใจของทั้งฝั่งเจ้าของกิจการหรือสตาร์ทอัพที่อยากระดมทุน และฝั่งของนักลงทุนที่กล้าเสี่ยง และแสวงหาโอกาสในการได้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้น ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของการกำกับดูแลที่ยังมีอยู่จำกัด โดยผู้ลงทุนคาดหมายว่า ราคาของเหรียญดิจิทัลที่ตนซื้อมาจากการไอซีโอจะพุ่งแรงเฉกเช่น สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) อย่าง บิทคอยน์ หรือ อีเธอร์เรียม ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเวลานี้

รายงาน “Initial Coin Offerings: A strategic perspective: Global and Switzerland” ที่ PwC Strategy& ร่วมกับ Crypto Valley ทำการศึกษาภาพรวม แนวโน้ม และความท้าทายของการไอซีโอทั่วโลก ชี้ว่า ปัจจุบันมีการระดมทุนแบบไอซีโอมากกว่า 500 รายทั่วโลก โดยในปี 2560 มูลค่าตลาดรวมของไอซีโอทั่วโลกสูงถึงราว 4,596 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.43 แสนล้านบาท)[1] ขณะที่ 4 ใน 10 บริษัทที่มีมูลค่าไอซีโอขนาดใหญ่ที่สุดของโลกส่วนใหญ่มาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์  

 

แกะรอย “สวิตเซอร์แลนด์” ศูนย์กลางไอซีโอโลก

ท่ามกลางข้อถกเถียงของหลายฝ่ายถึงข้อดีและข้อเสียของการลงทุนแบบไอซีโอ “สวิตเซอร์แลนด์” ได้กลายเป็นศูนย์กลางการระดมทุนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา โดยรายงานฉบับข้างต้นระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สวิตเซอร์แลนด์กลายเป็นศูนย์กลางของไอซีโอ เพราะมีระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการระดมทุนประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีตลาดทุนที่มีความน่าดึงดูดต่อบริษัททั้งในและนอกสวิตเซอร์แลนด์เอง และยังเป็นแหล่งรวมคนเก่งด้านเทคโนโลยี โดยมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่นี่ที่ทำการค้นคว้าและวิจัยเทคโนโลยีบล็อกเชนโดยเฉพาะ 


มูลค่าตลาดรวมของไอซีโอทั่วโลก ที่มา: Initial Coin Offerings: A strategic perspective:Global and Switzerland, PwC Strategy& และ Crypto Valley


ระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการระดมทุนแบบไอซีโอของสวิตเซอร์แลนด์ ที่มา: Initial Coin Offerings: A strategic perspective: Global and Switzerland, PwC Strategy& และ Crypto Valley

นอกจากนี้ สวิตเซอร์แลนด์ ยังเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยและมีนโยบายเป็นกลาง เหมาะมากสำหรับการสร้างตลาดเทคโนโลยีบล็อกเชนที่กำลังท้าทายกฎระเบียบข้อบังคับเดิมๆ โดยรัฐบาลและผู้นำองค์กรของสวิสฯ ให้ความสำคัญและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนในหลายระดับ อีกทั้งมีระบบภาษีที่ดึงดูดบรรดาบริษัทผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงสตาร์ทอัพบล็อกเชนอีกด้วย

ทั้งนี้ ความสำเร็จของสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งในเวลานี้กำลังเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของการกำกับดูแลการระดมทุนผ่านไอซีโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในทวีปเอเชีย เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และเวียดนาม ที่ได้มีการห้าม Cryptocurrency อย่างชัดเจน ขณะที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการออกกฎข้อบังคับ แจ้งเตือนเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ลงทุน ซึ่งนักลงทุนจำเป็นต้องศึกษากฎข้อบังคับให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน

 

อนาคตและความท้าทายข้างหน้า

อย่างที่กล่าวไปว่า ความท้าทายของไอซีโอในระยะต่อไป คงหนีไม่พ้นประการแรก คือ เรื่องของกฎเกณฑ์และข้อบังคับที่ไม่ชัดเจน ซึ่งเวลานี้หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับการระดมทุนผ่านไอซีโอและออกแนวทางกำกับดูแลการเสนอขายไอซีโอที่แตกต่างกันออกไป ประการที่สองคือ การจัดเก็บภาษี เพราะในหลายๆ ประเทศ ยังไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนในเรื่องนี้เช่นกัน ประการที่สาม คือ การกำหนดกฎหมายและสิทธิทางกฎหมายในการเรียกร้องไอซีโอ เพราะเหรียญดิจิทัลแต่ละประเภทมีฟังก์ชันและสิทธิเสมือนจริงที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ การป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ ยังเป็นอีกความท้าทายหนึ่งของบริษัทผู้ออกและหน่วยงานกำกับ ยกตัวอย่าง เช่น บริษัท Veritaseum ของสหรัฐฯ ที่มีแนวทางป้องกันการจารกรรมข้อมูลที่ไม่เพียงพอจนถูกแฮก สร้างความเสียหายเป็นมูลค่าสูงถึง 4.5 ล้านดอลลาร์

ส่วนอนาคตของการไอซีโอทั่วโลกนั้น รายงานฉบับนี้ระบุว่า แนวโน้มของการระดมทุนผ่านการไอซีโอจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนเงินตราดิจิทัล โดยแหล่งของการออกไอซีโอจะย้ายมาอยู่ที่ตลาดการเงินชั้นนำของเอเชียมากขึ้น เช่น เขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และ สิงคโปร์ ซึ่งคาดการณ์ว่า ตลาดเหล่านี้ก็จะสร้างระบบนิเวศน์ไอซีโอที่เหมาะสมเพื่อรองรับปริมาณของธุรกรรม อีกทั้งตระเตรียมกฎระเบียบที่ชัดเจนเพื่อป้องกันความเสี่ยงและพัฒนากำลังคนที่มีความรู้ ความเข้าใจทางด้านนี้โดยเฉพาะเช่นกัน

นอกจากนี้ เราคงจะเห็นหน่วยงานกำกับดูแลเอาจริงเอาจังกับการออกกฎระเบียบเพื่อป้องกันความเสี่ยงของการระดมทุนแบบไอซีโอมากขึ้น ตั้งแต่การจำกัดระยะเวลาของการใช้เหรียญดิจิทัล เพื่อให้นักลงทุนพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน รวมทั้ง จัดให้มีการลงทะเบียนนักลงทุนที่มีความสนใจลงทุนในไอซีโอล่วงหน้า ด้วยการนำระบบข้อมูลลูกค้า (Know Your Customer: KYC) มาใช้ยืนยันตัวตน เพื่อป้องกันการจารกรรมข้อมูลและการฟอกเงินโดยฝั่งของบริษัทผู้ออกไอซีโอเองก็จะมีการวางแผนเกี่ยวกับการระดมทุนที่มีความโปร่งใส และมีแนวทางการป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์มากขึ้นทั้งก่อนและหลังการไอซีโอ

สำหรับอนาคตไอซีโอของประเทศไทยนั้นคาดว่า จะเห็นบริษัทหลายๆ แห่งหันมาออกไอซีโอกันมากขึ้น ความท้าทายของบ้านเรานั้น ไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งในเรื่องของการกำกับดูแลการออกไอซีโอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาษี แนวทางการป้องกันการฟอกเงินและการถอนเงินอย่างผิดกฎหมาย รวมไปถึง การสื่อสาร ความรู้ ความเข้าใจให้กับนักลงทุน จากนี้ไป คงต้องติดตามความชัดเจนของนโยบายกำกับดูแลการออกไอซีโอและการคุ้มครองนักลงทุน หลังจากที่ คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้ว แนวทางการกำกับดูแลไอซีโอจะชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ลงทุน เจ้าของกิจการ และตลาดทุนของประเทศอย่างแน่นอน

//จบ//

Notes:

  1. [1] ณ 28 มีนาคม 2561 อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.12 บาท
  2. “Initial Coin Offerings: A strategic perspective: Global and Switzerland”
    https://cryptovalley.swiss/wp-content/uploads/20171221_PwC-S-CVA-ICO-Report_December_final.pdf
  3. คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/796998

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us