Next in Tech Blog

บทบาทใหม่ของ “โดรน” ตัวช่วยอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค

30 ตุลาคม 2560, โดย กุลธิดา เด่นวิทยานันท์

 

เชื่อว่า วันนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก “โดรน” (Drone) หรือ “เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ” ที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลกับอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัด เพราะสามารถเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ในการทำงานบางประเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานที่มีความเสี่ยงสูง หรืออยู่ในเขตพื้นที่อันตรายและยากต่อการเข้าถึง คุณสมบัติของโดรนมีความคล่องตัว อีกทั้งยังมีต้นทุนในการจัดการต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจลงทุนในเทคโนโลยีประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง ในคราวที่แล้ว ผู้เขียนได้พูดถึงความสามารถของเทคโนโลยี “โดรน” และการประยุกต์ใช้กับธุรกิจโดยรวม มาคราวนี้จึงอยากขอเจาะไปที่การนำโดรนมาใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำอย่าง ธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค (Power and Utilities) กันบ้าง ซึ่งกระแสของการใช้โดรนในอุตสาหกรรมนี้กำลังเริ่มเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

จากรายงานล่าสุด “Clarity from above: Leveraging drone technologies to secure utilities systems” ของ PwC คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดโดรนในอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภคทั่วโลกจะสูงถึง 9.46 พันล้านดอลลาร์ หรือ ราว  3.14 ล้านล้านบาท

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภคทั่วโลกนั้นกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นจากเขตชุมชนเมืองและอัตราการขยายตัวของประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน และ อินเดีย การเปลี่ยนถ่ายจากการใช้พลังงานดั้งเดิมมาสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น ความเข้มงวดของหน่วยงานกำกับดูแลที่อาจส่งผลให้ราคาพลังงานลดลง รวมทั้ง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของอุตสาหกรรม ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องการที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจเสียใหม่ เพื่อรักษาอัตราการเติบโตและกำไรขององค์กร

ด้วยแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจบวกกับความความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าอันมหาศาลนี่เอง ทำให้เทคโนโลยีโดรนถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Distribution) หรือ การกำกับดูแลสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (Transmission) ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมนี้ สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความคล่องตัวในกระบวนการบริหารจัดการและการบำรุงรักษาพลังงานทุกประเภท ผ่านการประยุกต์ใช้โดรนในกระบวนการทำงาน ดังต่อไปนี้

  1. การสำรวจก่อนการลงทุนและก่อสร้าง (Pre-construction and investment monitoring) โดยโดรนจะเข้ามาช่วยจัดการการลงทุนโครงการพลังงานและไฟฟ้าใหม่ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการสำรวจและเก็บรายละเอียดของข้อมูลในพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้สามารถระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการทำงาน และวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยงนั้นๆ ก่อนส่งคนงานเข้าไปปฏิบัติการได้ ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุในการทำงานที่อาจส่งผลต่อต้นทุนและค่าแรงได้ 
  2. การจัดการทรัพย์สินทางไฟฟ้าและการบำรุงรักษา (Asset inventory & maintenance management) การดำเนินงานและการบำรุงรักษาพลังงานและไฟฟ้า ถือเป็นขั้นตอนที่ใช้งบประมาณมากที่สุด โดยในทุกๆ ปี กลุ่มธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคทั่วโลกได้รับความเสียหายจากภาวะระบบล่มสูงถึง 169 พันล้านดอลลาร์ ด้วยพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ มักอยู่ในพื้นที่ขนาดใหญ่และยากที่จะเข้าถึง ดังนั้น การนำโดรนเข้ามาใช้ตรวจสอบทรัพย์สินทางไฟฟ้าและวางแผนซ่อมบำรุง จะช่วยลดปัญหาการจัดการทรัพย์สินทางไฟฟ้า โดยช่วยลดโอกาสของปัญหาระบบล่ม รวมถึงจำนวนอุบัติเหตุจากการส่งคนเข้าไปซ่อมบำรุง ยกตัวอย่างเช่น ในจีนมีการนำโดรนมาใช้กำจัดขยะที่ติดอยู่ตามสายไฟ หรืออยู่ในบริเวณที่มีสายไฟแทนการใช้แรงงานคน
  3. กำจัดวัชพืช (Vegetation management) โดรนสามารถเล็มพวกวัชพืชที่มาปกคลุมสายไฟได้ นอกจากนี้ ยังสามารถประเมินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ เช่น โอกาสของการเกิดอุบัติเหตุต้นไม้ล้ม โดยสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ต้นไม้ต้นไหนที่ควรตัดออกเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
  4. ตรวจสอบคุณภาพน้ำ (Enhancing water quality monitoring) การเฝ้าระวังน้ำ ถือเป็นงานที่ท้าทายอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เพราะนอกจากจะต้องใช้เวลาและแรงงานมากแล้ว ขั้นตอนนี้ยังมีความซับซ้อนอีกด้วย โดยโดรนสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการสำรวจ ตรวจสอบ และจับภาพพื้นที่น้ำขนาดเล็กและยากต่อการค้นพบได้เป็นอย่างดี นอกเหนือไปจากช่วยในการวิเคราะห์คุณภาพของน้ำ

อย่างไรก็ดี แม้การใช้งานโดรนในอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภคจะมีข้อดีอยู่มาก แต่ก็ยังมีความท้าทายที่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าต้องเตรียมรับมือ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานโดรนเอง เช่น การตกกระแทกของโดรนลงบนพื้นที่โรงไฟฟ้าซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลต่อสายไฟ หรือท่อส่งพลังงานต่างๆ นอกจากนี้ การขโมยฐานข้อมูลจากโดรน เพราะส่วนใหญ่ข้อมูลที่เก็บผ่านโดรนนั้นจะส่งข้อมูลผ่านไวไฟ หรือบลูทูธ (Bluetooth) ทำให้ผู้ประกอบการต้องศึกษาความเสี่ยงและมีมาตรการในการรักษาความปลอดภัยจากการใช้งานโดรนด้วย

สำหรับประเทศไทย แม้การนำโดรนมาใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภคจะยังไม่เป็นที่นิยมนัก แต่เชื่อว่า ในไม่ช้าโดรนจะถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายจากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น เพราะการประยุกต์ใช้โดรนสามารถช่วยปิดช่องโหว่ของการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นด้านต้นทุนในการบริหารจัดการ ความรวดเร็ว แม่นยำ และลดอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยรักษาอัตราการเติบโตขององค์กรให้เป็นไปอย่างที่คาดหวังอีกด้วย

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

We unite expertise and tech so you can outthink, outpace and outperform
See how
Follow us