Augmented Reality เปิดประสบการณ์ชอปปิงความเป็นจริงเสริม

22 ธันวาคม 2559

โดย กุลธิดา เด่นวิทยานันท์

วันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” คือ กุญแจสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายให้ธุรกิจของคุณ ท่ามกลางพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่มือถือและอินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปเสียแล้ว หลายธุรกิจจึงเร่งปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจค้าปลีก ที่ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับกระบวนทัพกันขนานใหญ่ ผู้ประกอบการหลายรายมีการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ สมาร์ทโฟน รวมถึงช่องทางการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยผลสำรวจของ PwC พบว่า ผู้บริโภคมากกว่า 1 ใน 3 ใช้มือถือเป็นช่องทางในการซื้อสินค้าออนไลน์

แต่อย่างที่เรานักชอปทราบดี ข้อเสียของการซื้อสินค้าออนไลน์ข้อหนึ่ง คือ เราไม่สามารถเห็น หรือสัมผัสสินค้าได้ก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งในบางครั้งสินค้าที่ได้รับกลับแตกต่าง ผิดสี ผิดขนาดจากสิ่งที่เราคาดหวัง ซึ่งผลที่ตามมาคือ การขอคืนสินค้า โดยรายงานของ MarketWatch ระบุว่า ปัจจุบันมีการคืนสินค้าทั่วโลกมูลค่าถึง 6.5 แสนล้านดอลล่าร์ ต่อปี ขณะที่สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศที่มีการส่งคืนสินค้าสูงที่สุดในโลกถึงประมาณ 2.2 แสนล้านดอลล่าร์ โดยเว็บไซต์ของ Business 2 Community ยังพบว่า 30% ของสินค้าออนไลน์ถูกส่งคืน เปรียบเทียบกับการคืนสินค้าที่ซื้อจากหน้าร้านที่เพียง 8.9%

ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจค้าปลีกจึงจำเป็นต้องหาลู่ทางพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อปิดช่องโหว่จากการชอปปิงออนไลน์ดังกล่าว โดยนำเอา เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม หรือ ความเป็นจริงแต่งเติม (Augmented Reality: AR) มาใช้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นการนำโลกแห่งความเป็นจริง (Real world) กับโลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้น (Virtual world) มาผสานกันโดยใช้วิธีซ้อนภาพ เสียง และวิดีโอเพื่อสร้างสิ่งที่ ‘เหมือนจริง’ ให้กับผู้ใช้ ผ่านซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกเสมือนกับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ สามารถโต้ตอบ หรือทดลองสินค้านั้นด้วยตัวเอง แถมภาพที่เห็นยังแสดงผลแบบ 360 องศาด้วย  

สำหรับเทคโนโลยีเออาร์นั้น มีระบบการทำงานแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ Geospatial AR system เป็นเออาร์ที่มีฟังก์ชั่นการทำงานร่วมกับระบบจีพีเอส (GPS-based AR) ยกตัวอย่าง เช่น แอพ Yelp ที่ได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวและผู้อาศัยต่างประเทศในการค้นหาสถานที่และร้านค้า ตามมาด้วย 2-D AR system เป็นเออาร์ที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า (User engagement)  และกำลังได้รับความนิยมในธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากมีความซับซ้อนน้อยกว่าเออาร์ประเภทอื่น โดยเออาร์ประเภทนี้ จะเปลี่ยนวัตถุสองมิติให้กลายเป็นรูปแบบสามมิติ ส่วนประเภทสุดท้าย คือ 3-D AR system เป็นเออาร์ในรูปแบบสามมิติ ซึ่งใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ส่วนใหญ่จะใช้ในอุตสาหกรรมหนัก  เช่น การผลิตเครื่องบิน เป็นต้น

หากเจาะลึกลงไปในส่วนของเทคโนโลยี 2-D AR ที่บริษัทค้าปลีกชั้นนำของโลกหลายแห่ง นำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดลูกค้าออนไลน์อยู่ในขณะนี้ ถือว่าเป็นฟังก์ชั่นการทำงานที่ช่วยให้ลูกค้าเห็นภาพสินค้าจริง ไม่ใช่เพียงภาพสินค้าตัวอย่างบนออนไลน์อีกต่อไป โดยเออาร์ประเภทนี้จะใช้เพียงอุปกรณ์ติดตั้งกล้อง เช่น สมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต โดยระบบจะใช้ภาพสัญลักษณ์ที่เรียกว่า Marker หรือ AR Code เมื่อกล้องจับภาพไปที่วัตถุสัญลักษณ์ จะเกิดการประมวลผลและแสดงข้อมูลภาพสองมิติจากนั้นภาพจะถูกเปลี่ยนเป็นสามมิติที่เคลื่อนไหวและปรากฏได้ทุกทิศทุกทาง ช่วยให้ลูกค้าเห็นภาพสินค้าโดยไม่ต้องจินตนาการ และสามารถตัดสินใจซื้อด้วยความมั่นใจมากขึ้น

ตัวอย่างของธุรกิจค้าปลีกที่ปัจจุบันนำ 2-D AR มาใช้จนประสบความสำเร็จ ได้แก่ บริษัทเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง IKEA ซึ่งถือเป็นธุรกิจรายแรกๆ ที่นำเออาร์มาใช้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกชอปปิงเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์ให้เหมาะกับสไตล์บ้านในฝันของตัวเองได้อย่างง่ายดาย เพียงดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นลงบนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต และเลือกชอปปิงสินค้าผ่านหนังสือแคตตาล็อกของอิเกียที่ถูกใส่เครื่องหมายเออาร์ไว้เรียบร้อย เมื่อเจอเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกใจ ก็สามารถนำหนังสือหรือเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการไปวางตรงบริเวณที่ต้องการติดตั้งเท่านั้น ภาพเฟอร์นิเจอร์สามมิติเสมือนจริงก็จะปรากฏขึ้นในบริเวณที่ต้องการ

นอกจากนี้ แบรนด์ของเล่นชั้นนำอย่าง Lego ก็นำเออาร์ประเภทนี้มาใช้กระตุ้นการตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยเช่นกัน เพราะลูกค้าตัวน้อยสามารถเห็นภาพของตัวต่อที่เสร็จสมบูรณ์แล้วแบบ 360 องศา ทำให้เด็กๆ เกิดความตื่นเต้นและไม่ต้องเสียเวลาจินตนาการหรือแม้กระทั่ง Sony ที่เปิดมิติใหม่ของการอ่านที่ผสานเทคโนโลยีเออาร์เข้ากับหนังสือและเกมส์ไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับการอ่านหนังสือ แถมยังสร้างความเพลิดเพลินและปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กๆ โดยไม่รู้ตัวอีกด้วย

ด้วยลักษณะเด่นของเออาร์ที่กล่าวมานี่เอง ธุรกิจค้าปลีกจึงหันมาใช้เออาร์ต่อยอดการทำตลาดชอปปิงออนไลน์เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจซื้อในอนาคต ซึ่งจากผลสำรวจ Retail Perceptions Report ของ Interactions พบว่า 61% ของลูกค้าเลือกที่จะซื้อสินค้าในร้านที่ใช้เออาร์มากกว่าร้านที่ไม่ได้ใช้ ขณะที่ 71% ของลูกค้าที่ทำการสำรวจบอกว่าตนจะซื้อสินค้ากับร้านค้าบ่อยขึ้น หากค้าปลีกนั้นๆมีการใช้เออาร์เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการชอปปิง ยิ่งไปกว่านั้น เออาร์ยังช่วยธุรกิจค้าปลีกทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ลดปัญหาการส่งคืนสินค้าที่เกิดจากความผิดพลาดในเรื่องของขนาด สี รูปร่าง หรือการชำรุดของสินค้า ทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่อยากได้ข้อมูลและเห็นภาพได้จริงอย่างครบถ้วน

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เพราะถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งมีการนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างที่กล่าวไป โดยข้อมูลจาก Digi-Capital คาดว่ามูลค่าการลงทุนในตลาดเออาร์ทั่วโลกจะสูงถึง 90,000 ล้านดอลล่าร์ ในปี 2563 โดยเอเชียจะเป็นผู้นำรายได้ในตลาดนี้ ตามด้วย ยุโรป และ อเมริกาเหนือ สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในอนาคตผ่านอินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างตอบโจทย์ต่อไป สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบ้านเราท่านใด ที่ยังไม่ได้คิดนำเออาร์มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจคงต้องเริ่มปรับตัวเพื่อหาช่องทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หากคุณไม่อยากตกขบวนรถไฟยุคดิจิทัลนี้ 

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us