PwC Thailand Spotlight Podcast series

เจาะลึกทิศทางภาษีของไทยปี 2568

PwC Thailand Spotlight Podcast series
  • Podcast
  • 19 minute read
  • 07 Mar 2025

ประเทศไทยกำลังปรับปรุงกฎหมายภาษีให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจและผู้เสียภาษีจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการภาษีให้มีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับข้อกำหนดใหม่ ๆ เหล่านั้น ด้วยภูมิทัศน์ทางภาษีที่กำลังเปลี่ยนไปมีประเด็นสำคัญอะไรที่ธุรกิจต้องติดตามบ้าง 

รับฟังได้จากพอดคาสต์ของเรา
 

Playback of this video is not currently available

19:57

ติดตามพอดคาสต์

แขกรับเชิญ

นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย

คุณนิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย
หัวหน้าสายงานกฎหมายและภาษี
บริษัท PwC ประเทศไทย
Email

ถอดเสียง

ปิยะณัฐ สวนอภัย
PwC Thailand Spotlight ทุกข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทรนด์ในการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและทั่วโลก รับฟังได้จากที่นี่

สวัสดีค่ะ ดิฉัน ปิยะณัฐ สวนอภัย รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ

คุณผู้ฟังคะ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ธุรกิจควรจะต้องติดตามอัปเดตอยู่เป็นประจำ นั่นก็คือ เรื่องกฎหมายและภาษี ซึ่งในช่วงระยะหลัง ๆ มานี้ เราจะเห็นว่า กฎหมายและภาษีของประเทศไทยนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างมีนัยสำคัญ และดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในและนอกประเทศ

วันนี้ เราจึงเชิญ คุณนิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงานกฎหมายและภาษี บริษัท PwC ประเทศไทย มาร่วมพูดคุยถึงแนวโน้มกฎหมายและภาษีของบ้านเราทั้งในปีนี้และระยะถัดไปว่ามีประเด็นหรือความท้าทายทางด้านกฎหมายและภาษีอะไรอยู่บ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือผู้เสียภาษีเองได้ตระหนักรู้และเตรียมตัววางแผนบริหารจัดการภาษีให้สอดรับกับกลยุทธ์ของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพกันค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณนิพันธ์

นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย
สวัสดีครับ คุณเอิง

ปิยะณัฐ
ค่ะ อยากให้คุณนิพันธ์ช่วยประเมินแนวโน้มมาตรการภาษีของประเทศไทยในปี 2568 นี้ ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร หรือว่ามีประเด็นด้านภาษีอะไรบ้างที่น่าสนใจที่ผู้ประกอบการหรือผู้เสียภาษีควรจะต้องติดตามบ้างคะ

นิพันธ์
ผมขอเริ่มต้นด้วยการให้ภาพรวมของการจัดเก็บภาษีในรอบปีที่ผ่านมากับปีนี้ก่อนนะครับ ปีที่แล้ว เป้าหมายการจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท แต่กรมสรรพากรจัดเก็บได้จริงประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 10% หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท สำหรับปี 2569 เป้าหมายการจัดเก็บภาษีถูกขยับขึ้นเป็น 2.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับยอดจัดเก็บจริงของปีที่แล้ว จะมีส่วนต่างประมาณ 4 แสนล้านบาท

โจทย์ใหญ่ของกรมสรรพากร คือ จะหาเงิน 4 แสนล้านบาทนี้จากที่ไหน ในอดีต ภาษีหลัก ๆ ที่กรมสรรพากรจัดเก็บได้มาจากภาษีประเภทต่าง ๆ

อันดับที่หนึ่ง คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งเป็นภาษีที่เก็บได้มากที่สุด

อันดับที่สอง ก็คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งของประเทศไทยอัตราภาษีตอนนี้อยู่ที่ 20% และเมื่อมีการจ่ายเงินปันผล จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพิ่มอีก 10% ทำให้ effective tax rate (อัตราภาษีที่แท้จริง) ของภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยรวมกับการจ่ายเงินปันผล อยู่ที่ 28%

นอกจากนี้ ยังมีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นแหล่งรายได้สำคัญอันดับสาม ที่กรมสรรพากรจัดเก็บเป็นภาษีหลัก

หากเปรียบเทียบตัวเลขปีที่แล้วกับปีนี้ที่ผมกล่าวไป เราจะเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการจัดเก็บภาษีอีก 4 แสนล้านบาท ในขณะที่ GDP ของปีนี้ ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่มีประเด็นที่น่าจับตามอง คือ การค้าทั่วโลกที่มีความเข้มข้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ

ตัวอย่าง เช่น ข่าวล่าสุดเกี่ยวกับยอดขายรถยนต์ที่ลดลงอย่างน่ากังวล เพราะยอดขายรถยนต์ในประเทศในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบสิบกว่าปี ซึ่งอาจส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ถึงเป้า หากเรานึกถึงซัพพลายเชนของรถยนต์ เมื่อยอดขายลดลง ก็อาจส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะจัดเก็บจากกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ก็มีแนวโน้มที่จะลดลงตามไปด้วย เนื่องจากยอดการผลิตและยอดขายของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ ลดลงตลอดทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่บริษัทขายรถยนต์ ไปจนถึงบริษัทขายชิ้นส่วนรถยนต์ ก็จะลดลงกันเป็นทอด ๆ

โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจอาจจะยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ยอดการจัดเก็บภาษีกลับเพิ่มขึ้น ดังนั้น กรมสรรพากรจึงจำเป็นต้องหาเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการตรวจสอบภาษี หรือจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมายครับ

คราวนี้เรามาดูในแง่มุมของการทำงานของกรมสรรพากรกันบ้างครับ ที่ผ่านมาการตรวจสอบภาษีสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ ได้แก่ การตรวจสอบแบบไม่เป็นทางการ และการตรวจสอบแบบเป็นทางการ

การตรวจสอบแบบไม่เป็นทางการเป็นเครื่องมือที่กรมสรรพากรใช้มาแล้วกว่าสิบปี เราเรียกการตรวจสอบประเภทนี้ว่า ‘การตรวจแนะนำ’ ซึ่งกรมสรรพากรจะส่งจดหมายไปยังผู้เสียภาษีเพื่อแจ้งว่าจะเข้าไปตรวจสถานประกอบการ โดยจะตรวจดูรายงานต่าง ๆ และให้คำแนะนำแก่ผู้เสียภาษีว่าส่วนใดบ้างที่ควรปรับปรุงแก้ไข จากนั้นผู้เสียภาษีก็จะไปยื่นเรื่องแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามคําแนะนําของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ซึ่งการตรวจแบบนี้ถือว่าค่อนข้างเป็นมิตร

ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ การตรวจสอบแบบเป็นทางการ ซึ่งในวงการภาษีเราเรียกว่า ‘การตรวจด้วยการออกหมาย’ กรมสรรพากรจะใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากรในการออกหมายเรียกผู้เสียภาษีเข้ามาทำการตรวจสอบภาษี ซึ่งจะดำเนินการตรวจเป็นรายปี

ตามที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า กรมสรรพากรต้องการหาเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของประเทศไทยที่จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) โดยก่อนหน้านี้เราได้ลงนามในข้อตกลง Inclusive Framework กับ OECD เพื่อให้มีความเป็นสากล

จากจุดนั้นมาจนถึงวันนี้ ประเทศไทยกําลังจะก้าวไปอีกหนึ่งขั้น คือ จากที่มีการลงนาม Inclusive Framework ประเทศไทยกำลังจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ซึ่งหากเข้าเป็นสมาชิกได้ ในด้านบวกก็คือ จะทำให้ไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความท้าทาย คือ เราจะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ในประเทศให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ OECD ซึ่งสาระสำคัญประการหนึ่งก็คือ เรื่องของภาษี

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการพัฒนาทางด้านภาษีระหว่างประเทศในกฎหมายภาษีของไทยค่อนข้างมาก หนึ่งในนั้น คือ Transfer Pricing (การกำหนดราคาโอน) ที่มีผลบังคับใช้แล้ว โดยบริษัทในประเทศไทยที่มีรายได้เกิน 200 ล้านบาท และมีธุรกรรมกับบริษัทในเครือจะต้องยื่น Transfer Pricing Disclosure Form (แบบฟอร์มการเปิดเผยข้อมูล) และจัดทำรายงานเอกสารราคาโอน (Transfer Pricing documentation)

อีกกรณีล่าสุด คือ Pillar Two หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่เท่ากันทั่วโลก (Global Minimum Tax: GMT) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยกำหนดว่า กลุ่มบริษัทที่มีรายได้เกิน 750 ล้านยูโรต่อเนื่องกันสองปี ต้องปฏิบัติตามกฎ GMT ซึ่งหมายถึง การเสียภาษีขั้นต่ำ 15% ในประเทศที่ลงทุน หากเสียภาษีไม่ถึง 15% จะต้องจ่าย top-up tax (ภาษีส่วนเพิ่ม)

เมื่อกฎหมายเหล่านี้ออกมา ไม่ว่าจะเป็น Transfer Pricing หรือ Pillar Two ผมไม่ได้รู้สึกแปลกใจเลย เพราะจากตัวเลขประมาณการบวกกับกฎหมายที่ออกมาใหม่ นี่คือเครื่องมือที่กรมสรรพากรจะใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีในปีนี้ครับ

ปิยะณัฐ
ค่ะ จากที่คุณนิพันธ์ได้เล่าให้ฟัง ทุกท่านคงจะเห็นภาพแล้วว่า ปัจจัยต่าง ๆ และแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างไรบ้างคะ คุณนิพันธ์

นิพันธ์
ผมคิดว่าในด้านการตรวจสอบภาษี เราจะเห็นการตรวจสอบเพิ่มขึ้นครับ

ในระยะสั้น เครื่องมือที่กรมสรรพากรมีและใช้อยู่ คือ ระบบการตรวจสอบภาษีโดยใช้วิธีการประเมินความเสี่ยง หรือที่เราเรียกว่า ระบบการตรวจสอบบนพื้นฐานความเสี่ยง (Risk-Based Audit System: RBA) ซึ่งเป็นอัลกอริทึมที่กรมสรรพากรใช้ในการวิเคราะห์แบบแสดงรายการของผู้เสียภาษีทุกประเภท โดยจะเชื่อมโยงกับข้อมูลต่าง ๆ ของกรมสรรพากรเพื่อดูว่าผู้เสียภาษีรายใดมีความเสี่ยงที่จะปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายภาษีอากร ระบบนี้ยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และจากกรณีที่ผู้เสียภาษีได้มาปรึกษาเราในช่วงหลัง ๆ นี้ เราจะเห็นได้ว่า ระบบมีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น RBA จะยังคงถูกนำมาใช้โดยบริษัททั่วไป

อีกเครื่องมือหนึ่งที่กรมสรรพากรอาจจะนำมาใช้ในไม่ช้า คือ การตรวจสอบราคาโอน (Transfer Pricing) ซึ่งที่ผ่านมาเรามีกฎหมายที่กำหนดว่า ผู้ประกอบการที่มียอดขายเกิน 200 ล้านบาทและมีธุรกรรมกับบริษัทในเครือ จะต้องจัดทำแบบฟอร์มการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure Form) และเอกสารประกอบการจัดทำราคา (documentation) นี่เป็นกรอบที่กำหนดให้ผู้เสียภาษีต้องเตรียมตัว

จากนั้น กรมสรรพากรจะใช้ข้อมูลที่ผู้เสียภาษีส่งมาในการตรวจสอบ โดยอาจมีการออกแนวทางในการตรวจสอบว่าเกณฑ์ในการตรวจมีอะไรบ้าง และวิธีการประเมินภาษีจะทำอย่างไร ซึ่งเครื่องมือนี้น่าจะมีประสิทธิภาพมากในการช่วยให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้ในระยะกลาง

สำหรับระยะถัดไป การตรวจสอบจะเกี่ยวข้องกับ Pillar Two หรือการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่เท่ากันทั่วโลก (Global Minimum Tax: GMT) ซึ่งมีกฎหมายบังคับใช้แล้ว แต่ผู้เสียภาษีจะต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรภายใน 15 ถึง 18 เดือนข้างหน้า ดังนั้น หลังจากที่ผู้เสียภาษีทยอยส่งข้อมูลเข้ามาแล้ว กรมสรรพากรคงจะใช้เวลาสักพักหนึ่งในการออกแบบวิธีการตรวจสอบและกำหนดระเบียบในการปฏิบัติ ซึ่งอาจจะมีผลในระยะยาว คงจะไม่ใช่ในปีนี้หรือปีหน้า แต่อาจจะในอีกสามถึงห้าปีข้างหน้า

ดังนั้น ณ วันนี้ หากมองในมุมของผู้เสียภาษี เราอาจจะต้องมองเป็นกลุ่มผู้เสียภาษีในปัจจุบันที่ควรให้ความสำคัญกับระบบ RBA ของกรมสรรพากร ซึ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือ กลุ่มที่อาจถูกตรวจสอบเรื่อง Transfer Pricing ที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ถ้าบริษัทของเรามีธุรกรรมกับบริษัทในเครือ ไม่ว่าเราจะเป็นบริษัทใหญ่หรือเล็ก ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะกฎหมายนี้ไม่ได้ระบุว่าจะใช้เฉพาะกับบริษัทรายใหญ่เท่านั้น

ผมอยากฝากให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับสองส่วนนี้ครับ และหากผู้ประกอบการใดที่ยังรู้สึกไม่มั่นใจว่าระบบของตนเองถูกต้อง จะต้องกลับไปนั่งดูอย่างจริงจังว่า เราจะทําอย่างไรให้ถูกต้องมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่า ภาษีเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงนะครับ

ในอดีต หลายบริษัทจะมุ่งเน้นการวางแผนภาษีเพื่อเสียภาษีในอัตราที่ต่ำที่สุด แต่ในปัจจุบันหากมองเทรนด์ระดับสากล เมื่อมีการบังคับใช้ภาษีระหว่างประเทศแบบ GMT ออกมา โดยมีการระบุว่าให้บริษัทขนาดใหญ่ที่ไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ จะต้องเสียภาษีอย่างน้อย 15% การวางแผนภาษีเพื่อให้ได้อัตราต่ำจึงไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมอีกต่อไป

สำหรับบริษัทขนาดเล็ก อาจจะยังพอมีช่องว่างให้วางแผนภาษีได้ แต่อาจจะไม่คุ้มค่าเพราะต้องใช้ความรู้มาก จะต้องมีที่ปรึกษา อาจจะต้องมีการลงทุน ฉะนั้น ที่ผ่านมาเราจึงไม่ค่อยเห็นการวางแผนสำหรับบริษัทขนาดเล็ก และพวกเขาจะทําอะไรตรงไปตรงมา เพียงแต่ว่าการที่จะทำถูกต้องหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ที่ผ่านมา ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่มีการวางแผนภาษี บางกลุ่มเสียภาษีทั้งกลุ่มอยู่ที่ 4%-5% เท่านั้นเอง เมื่อเทียบกับยอดรายได้ เพราะฉะนั้นการเสียภาษีในอัตราที่ต่ำของบริษัทขนาดใหญ่ในอดีต จึงคุ้มค่ากับความเสี่ยง สมมติว่าถ้าทั้งกลุ่มเสียภาษีอยู่ที่ 4% หรือ 5% แต่มีประเทศใดประเทศหนึ่งถูกประเมินภาษีขึ้นมา ทำให้ยอดภาษีนั้นสูงมาก ๆ ก็อาจจะทําให้อัตราภาษีของทั้งกลุ่มขยับจาก 4% หรือ 5% ขึ้นไปเป็น 7% หรือ 8% ซึ่งการขยับขึ้น 3% นั้น ในแง่ของเม็ดเงินถือว่าเยอะ แต่ก็ยังถือว่าต่ำในเชิงอัตราภาษีที่ทั้งกลุ่มเสีย

ผมอยากให้เทียบกับวันนี้ครับ global minimum tax บอกว่า เราจะต้องเสียภาษีขั้นต่ำ 15% เดิมจาก 3% หรือ 4% ถึง 5% ถูกปรับขึ้นมาเป็น 7% หรือ 8% ซึ่งยังคงเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของอัตรา 15% ภายใต้ Pillar Two หรือ GMT concept ดังนั้น วันนี้เราจึงเห็นภาพแล้วว่า การวางแผนภาษีเพื่อให้ได้อัตราต่ำไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมสำหรับบริษัทขนาดใหญ่อีกต่อไป เพราะว่าถ้าวางแผนภาษีเช่นนั้นเพื่อให้ได้อัตราภาษีต่ำ ๆ สุดท้ายก็จะโดน top-up tax อยู่ดี และทุกคนก็จะโดน top-up tax ขึ้นมาที่ 15%

ดังนั้น วิธีการบริหารภาษีที่ดี ณ วันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องของการวางแผนภาษีเพื่อให้ได้อัตราภาษีที่ต่ำ แต่เป็นการบริหารจัดการภาษี โดย ณ วันนี้ ผมเรียกว่า การทํา tax management เพื่อให้เรามั่นใจว่า 15% ที่เราจะต้องเสียนั้น เป็นตัวเลขสุดท้ายจริง ๆ เราต้องมั่นใจครับว่าทุก ๆ ประเทศและทุก ๆ บริษัทที่เราเข้าไปลงทุน มีแนวทางการปฏิบัติทางภาษีที่ถูกต้อง ครบถ้วน แม่นยํา 100% ตามกฎของประเทศนั้น ๆ การปฏิบัติตามกฎหมายภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนนี้ ในทางภาษี เราเรียกว่า tax compliance

ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ ควรพัฒนาการบริหารภาษีภายในให้มีธรรมาภิบาลที่ดี หรือที่เรียกว่า tax governance และทำเอกสารให้ครบถ้วน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการลดความท้าทายทางด้านภาษีในอนาคตครับ

ปิยะณัฐ
สุดท้ายนี้ อยากให้คุณนิพันธ์ฝาก key takeaways ถึงผู้เสียภาษีที่ต้องดําเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ที่มาตรการกฎหมายและภาษีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นปัจจุบันค่ะ

นิพันธ์
ช่วงหลัง ๆ นี้ ภาษีมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาษีที่เกี่ยวข้องกับภาษีระหว่างประเทศ ผมเข้าใจว่า ผู้ประกอบการทุกท่านจะต้องเผชิญกับต้นทุนในการบริหารจัดการที่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ออกกฎเหล่านี้ เราเองก็พยายามที่จะเป็นพลเมืองโลก โดยการปฏิบัติตามการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อเกิดต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผมอยากให้ผู้ประกอบการและผู้เสียภาษีทุกคนมองว่าเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางภาษี หน้าที่ของเรา คือ พยายามทำให้สิ่งที่เราต้องเสียนั้นเป็นตัวเลขสุดท้ายจริง ๆ เราต้องไม่ทำผิด และต้องทำให้ถูกต้องตั้งแต่วันแรก เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการเสียเบี้ยปรับในอนาคต เพราะนั่นจะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของเรายิ่งเพิ่มขึ้น

วันนี้ ผมอยากให้ทุกคนเริ่มกลับมาทบทวนตัวเองว่า ภาษีและระบบหลังบ้านของเรามีความพร้อมแค่ไหน และมั่นใจแค่ไหนว่าถูกต้อง หากเรายังรู้สึกว่าไม่ได้ถูกต้อง 100% เราอาจจะต้องเริ่มพูดคุยกับทีมบัญชี ทีมกฎหมาย และทีมภาษี ว่าเราจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนจากจุดที่เราอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ไปถึงจุดที่ถูกต้อง 100% และเราต้องทำอะไรบ้าง

เราจะได้มีแผนการพัฒนาตัวเอง สร้างระบบหลังบ้านของเราโดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาลที่ดี และนั่นจะเป็นการบริหารจัดการการเสียภาษีที่ยั่งยืน และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายครับ

ปิยะณัฐ
จากการพูดคุยกับคุณนิพันธ์ในวันนี้ คุณผู้ฟังคงจะเห็นแล้วว่า ผู้เสียภาษีในบ้านเรากำลังเผชิญกับความท้าทายในด้านกฎหมายและภาษีในหลากหลายมิติ ดังนั้น การติดตามอัปเดตความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกฎหมายและภาษีอยู่เป็นประจำ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อช่วยให้เราวางแผนด้านภาษีได้อย่างครอบคลุมและสอดรับกับกลยุทธ์ของธุรกิจ และอย่างที่คุณนิพันธ์ทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งสำคัญที่ธุรกิจควรจะต้องมีก็คือ ระบบบริหารจัดการภาษีที่ดี นั่นคือ จะต้องมีทั้ง tax management, tax compliance และระบบหลังบ้านที่ดี เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการภาษีได้อย่างยั่งยืนค่ะ

วันนี้ ต้องขอขอบคุณคุณนิพันธ์มากเลยนะคะ ที่มาร่วมพูดคุยและให้ความรู้ รวมถึงข้อมูลสําคัญ ๆ นะคะ 

ขอบคุณมากเลยนะคะ

นิพันธ์
ด้วยความยินดีครับคุณเอิง สวัสดีครับ

ปิยะณัฐ
และสำหรับคุณผู้ฟังที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com/th หรือติดตามข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียของ PwC ประเทศไทย ได้ทาง LinkedIn, X และ Facebook ค่ะ

และที่สำคัญอย่าลืมกด Like และ Follow เพื่อไม่ให้พลาดพอดคาสต์ซีรีส์ของ PwC Thailand Spotlight ในตอนต่อไป

สำหรับวันนี้ เราสองคนต้องขอลาไปก่อน ขอบคุณและสวัสดีค่ะ

คลิกที่นี่เพื่ออ่านเวอร์ชันภาษาอังกฤษ

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us