Asia Pacific’s Time Blog

ถึงเวลาความร่วมมือในเอเชียแปซิฟิกเพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืน

โดย นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย และหัวหน้าสาย Clients & Markets
บริษัท PwC ประเทศไทย
30 พฤศจิกายน 2563

กว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด สามารถดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก และขยายตลาดผู้บริโภคไ่ด้อย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชาติต่อหัวและการขยายตัวของชั้นกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านสุขภาพ ระบบการศึกษา และการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในยุคโลกาภิวัฒน์ยังถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เอเชียแปซิฟิกกลายมาเป็นหนึ่งในสามผู้นำเศรษฐกิจการค้าโลก หรือ มีสัดส่วนจีดีพีคิดเป็นเกือบ 40% ของจีดีพีโลก

อย่างไรก็ตาม เอเชียแปซิฟิกต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักตลอดหลายปีที่ผ่านมาไม่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นทั่วโลก ทั้งภาวะกีดกันทางการค้า ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมือง การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรในหลายประเทศ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ยิ่งเข้ามาสร้างความท้าทายใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานทางด้านสังคมและอื่น ๆ ต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อปรับกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ที่เอื้อให้เกิดความร่วมมือในระดับภูมิภาคมากขึ้น ตัวอย่างล่าสุดเห็นได้จาก ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ระหว่าง 15 ประเทศเอเชียแปซิฟิกที่เพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ในส่วนของ PwC เอง ก็ได้มีการจัดทำรายงาน Asia Pacific’s Time ที่นำเสนอถึง 5 เสาหลักสำคัญที่ทั้งผู้นำ ผู้บริหาร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ทุกภาคส่วนในภูมิภาคต้องนำไปปฏิบัติเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น  ได้แก่ 1. การก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 2. การกระตุ้นการเติบโตขององค์กรในระดับภูมิภาค 3. การปรับสมดุลห่วงโซ่อุปทานและส่งเสริมการใช้นวัตกรรม 4. การขยายกำลังแรงงานที่มีความพร้อมสำหรับอนาคต และ 5. การสร้างความยั่งยืนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่ออนาคตของการลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะนำ 5 เสาหลักดังกล่าวไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลสำเร็จได้นั้น  หัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่นและมีเป้าหมายร่วมกันในการเปลี่ยนวิธีคิดและมีความเป็นเอกภาพในการเปลี่ยนผ่านความท้าทายทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ และสังคมไปสู่การเจริญเติบโตที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่ง PwC ได้เสนอ 4 กุญแจสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงการทำงานร่วมกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชากรในภูมิภาค ดังนี้

  1. ต้องมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ร่วมกัน เพื่อสร้างสมดุลให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยต้องจัดอันดับความสำคัญของเป้าหมาย โดยรวมเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของทุกฝ่ายเข้าด้วยกันทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคสังคมเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ๆ บนพื้นฐานของการขยายขีดความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ไปพร้อม ๆ กับพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน โดยไม่มองเพียงแค่การฟื้นฟูวิกฤตไวรัสโควิด-19 แต่ยังเป็นการใช้โอกาสที่เกิดขึ้นจากวิกฤตในการสร้างความเท่าเทียมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

  2. ต้องมีความยืดหยุ่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะต้องมีความยืดหยุ่นและมีความสามารถในการรับมือและเตรียมพร้อมต่อวิกฤตและความไม่แน่นอนในอนาคต เช่น ภาคธุรกิจจะต้องมีกลยุทธ์ในการจัดการเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคของตนแบบบูรณาการ และต้องสร้างเครือข่ายทางด้านดิจิทัลให้เกิดขึ้น ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะต้องหันมาร่วมมือกันสร้างความเชื่อมั่นทางดิจิทัลให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคและสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีการขาดแคลนสินค้าที่จำเป็นในอนาคต

  3. ต้องมีความโปร่งใส การใช้ข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งความโปร่งใสจะกลายมาเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ภาครัฐจะต้องแสดงถึงความโปร่งใสในการกำหนดนโยบาย ในขณะที่ภาคเอกชนจะต้องยึดหลักจริยธรรม และต้องเปิดเผยข้อมูลผลกระทบที่ธุรกิจของตนมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้า และผู้บริโภคในเรื่องของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการมีความโปร่งใสในการใช้และแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันของทุกฝ่าย 

  4. ต้องจับมือเป็นพันธมิตรและเป็นเจ้าของร่วมกัน ทุกประเทศในเอเชียแปซิฟิกต้องร่วมมือกันในการบรรลุเป้าหมายในการเติบโตของภูมิภาค โดยแต่ละฝ่ายต้องนำจุดแข็งของตนมาปรับใช้ร่วมกันผ่านการเป็นพันธมิตรทางการค้า หรือพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อต่อยอดความสำเร็จและสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคมส่วนรวมของแต่ละฝ่าย แต่การร่วมมือกันจะต้องมีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน และกำหนดให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ รวมถึงผลลัพธ์ที่คาดหวังด้วย ซึ่งการกำหนดบทบาทหน้าที่ว่านี้ จะช่วยให้การทำงานของแต่ละฝ่ายที่มีวัฒนธรรมและรูปแบบการทำงานต่างกัน สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ 

ถึงเวลาแล้วที่เอเชียแปซิฟิกจะต้องสร้างความร่วมมือกันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน โดยภารกิจเร่งด่วนคือต้องปรับการทำงานแบบเดิม ๆ และวางแผนการเติบโตที่มีความยืดหยุ่น รวมทั้ง ต้องเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้จากการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Asia Pacific's Time: We must act now, PwC  

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us