Next in Tech Blog

ดึง “บล็อกเชน” เปลี่ยนธุรกิจอย่างไรให้สำเร็จ

24 กันยายน 2561

โดย คุณ วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย

“บล็อกเชน” (Blockchain) ได้รับการขนานนามจากทั่วโลกว่า เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเปลี่ยนโฉมหน้าของการทำธุรกิจ เพราะ เป็นระบบที่แยกเก็บบัญชีธุรกรรมไว้ในที่ต่างๆ โดยกระจายฐานข้อมูลแยกศูนย์แต่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายแบบเพียร์ทูเพียร์ (peer to peer) หรือระบบที่ทุกคนแชร์ข้อมูลกันไปมาโดยไม่มีศูนย์กลางได้ ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่าย และสามารถตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนยังมีความเที่ยงตรงสูง จึงสร้างความโปร่งใส และความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจมากขึ้น

 

เมื่อเร็วๆ นี้ PwC มีการจัดทำผลสำรวจ Global Blockchain Survey 2018 โดยสอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารจำนวน 600 คนจาก 15 ประเทศเกี่ยวกับการเข้ามาของเทคโนโลยีนี้ พบว่า 84% ของผู้บริหารทั่วโลกได้มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตน บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลกอย่าง Gartner เองก็คาดการณ์ว่า บล็อกเชนจะสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้มากกว่า 300 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573

ยิ่งไปกว่านั้น รายงานยังระบุอีกว่า อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ยังถือเป็นผู้นำตลาดในการใช้บล็อกเชนในเวลานี้ รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมการผลิต และ อุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค

นอกจากนี้ เรายังเริ่มเห็นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีกที่นำเทคโนโลยีดังกล่าว มาใช้ในการจัดการระบบซัพพลายเชน หรือ ธุรกิจสื่อและบันเทิงอย่างวงการเพลง ที่นำบล็อกเชนเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาการดาวน์โหลดเพลง การคัดลอกเพลง รวมทั้งผู้บริโภคยังสามารถเลือกฟังเพลงที่ต้องการ และจ่ายเงินให้กับศิลปินโดยตรงผ่านระบบบล็อกเชนในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัล โดยไม่ผ่านแพลตฟอร์มตัวกลางหรือค่ายเพลงได้อีกด้วย




อุตสาหกรรมบริการทางการเงินถือได้ว่าเป็นผู้นำของกลุ่มอุตสาหกรรม
ที่มีการนำบล็อกเชนมาใช้มากที่สุด (ที่มา: Global Blockchain Survey 2018, PwC)

เปิดกลยุทธ์เปลี่ยนธุรกิจด้วยบล็อกเชน

แม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะกำลังเข้ามาช่วยปฏิวัติกระบวนการทำงานในหลายธุรกิจ แต่ก็ยังมีหลายบริษัทกำลังเผชิญอุปสรรคในการนำบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ โดยรายงานฉบับนี้ระบุว่า อุปสรรคที่สำคัญ 3 อันดับแรกของการใช้งานบล็อกเชนในภาคธุรกิจ ได้แก่ กฎระเบียบข้อบังคับที่ไม่แน่นอน (48%) ความน่าเชื่อถือของบล็อกเชนในหมู่ผู้ใช้งาน (45%) และการขาดเครือข่ายในการใช้งานที่เพียงพอ (44%)

ทั้งนี้ รายงานของ PwC ได้นำเสนอ 4 กลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในการนำบล็อกเชนมาใช้งาน ได้แก่

  1. ประยุกต์ใช้บล็อกเชนเพื่อธุรกิจอย่างเหมาะสม:  การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจนั้น ไม่ได้แปลว่า ผู้บริหารจะต้องปฏิวัติระบบเทคโนโลยี หรือ รูปแบบธุรกิจของคุณใหม่ทั้งหมดเสมอไป แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ ต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับทิศทางของตลาดและสภาพแวดล้อมของการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยผลการสำรวจพบว่า 62% ของผู้บริหารได้เริ่มดำเนินการโครงการพัฒนาบล็อกเชนแล้ว ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีในการเติบโตของเทคโนโลยีนี้ แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือ ธุรกิจต้องสามารถนำบล็อกเชนมาใช้งานอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์และคุณค่าทางธุรกิจที่จะได้รับในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น การใช้ทรัพยากรหรือข้อมูลร่วมกันจะช่วยสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้
  2. สร้างระบบนิเวศบล็อกเชนในอุตสาหกรรม ดึงความร่วมมือจากคู่ค้าและคู่แข่ง: กุญแจสำคัญที่จะทำให้บล็อกเชนประสบความสำเร็จคือ การสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ในอุตสาหกรรมที่มีหลายองค์กรทำงานร่วมกัน โดยอาจเริ่มจากการพัฒนาระบบนิเวศขนาดเล็กที่มีศักยภาพในการเติบโต ประกอบกับมองหาเครือข่ายในอุตสาหกรรม หรือองค์กรการค้า แม้กระทั่งคู่แข่งที่อาจกำลังเตรียมใช้งานบล็อกเชนอยู่แล้ว ซึ่งรายงาน ระบุว่า 40% ของผู้บริหารเชื่อว่า การขยายเครือข่าย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การนำบล็อกเชนมาใช้ในธุรกิจประสบความสำเร็จ
  3. สร้างกฎระเบียบร่วมกัน: การสร้างกฎระเบียบหรือมาตรฐานที่ทุกฝ่ายเห็นชอบถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องร่วมกันส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัย พร้อมด้วยนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบทีมพัฒนาระบบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เกี่ยวข้อง ยิ่งไปกว่านั้น ต้องพิจารณาถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เช่น กฎหมายจีดีพีอาร์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการบันทึกข้อมูลด้วย
  4. ติดตามความเคลื่อนไหวของกฎระเบียบข้อบังคับ: เมื่อเทคโนโลยีบล็อกเชนมีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น แน่นอนว่า หน่วยงานกำกับดูแลต้องเข้ามามีบทบาทในการออกกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการใช้งาน แต่ดูเหมือนว่า ในปัจจุบันกฎระเบียบในการกำกับดูแลของแต่ละประเทศนั้น ยังไม่มีความชัดเจนและแตกต่างกันอยู่มาก โดย 27% ของผู้บริหารแสดงความกังวลต่อความไม่แน่นอนของกฎระเบียบข้อบังคับ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาบล็อกเชนในระยะยาว อย่างไรก็ดี ธุรกิจสามารถยึดข้อกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นแนวทางในการปฏิบัติและคอยจับตามองความเปลี่ยนแปลง โดยไม่รอช้าที่จะดึงเทคโนโลยีนี้มาใช้กับธุรกิจ ในส่วนของกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในอุตสาหกรรม ก็ต้องร่วมมือกับหน่วยงานกำกับเพื่อร่วมกันวางนโยบาย และคอยติดตามความเคลื่อนไหวของข้อกฎหมายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของบล็อกเชน และช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้บล็อกเชน เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย เวลานี้ภาคธุรกิจและหน่วยงานกำกับต่างตื่นตัวในการพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบบล็อกเชนมากขึ้นโดยล่าสุด ธนาคาร 14 แห่ง ได้จับมือกับรัฐวิสาหกิจและองค์กรขนาดใหญ่ 7 แห่ง จัดตั้งชุมชน Thailand  Blockchain Community Initiative  ขึ้นเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยยังได้ริเริ่มโครงการบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนเป็นโครงการแรก ซึ่งนี่ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับไทยในการนำบล็อกเชนเข้ามาพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งดิฉันเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะได้เห็นเทคโนโลยีบล็อกเชนถูกพัฒนาและนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอื่นๆ ของบ้านเรามากขึ้นเช่นกัน

//จบ//

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. Global Blockchain Survey 2018, PwC: https://www.pwc.com/blockchainsurvey
  2. กรณีศึกษา Walmart นำ Blockchain มาใช้จัดการอาหารที่ถูกเรียกคืน: https://techsauce.co/news/walmart-blockchain-trial-tackles-food-safety/
  3. Blockchain กับการปฏิวัติวงการดนตรี พร้อมกรณีศึกษา: https://techsauce.co/tech-and-biz/how-blockchain-can-disrupt-the-music-industry-2/
  4. 14 แบงก์ไทยร่วม Thailand Blockchain Community Initiative นำ Blockchain ยกระดับธุรกิจของประเทศ: https://techsauce.co/news/thailand-blockchain-community-initiative/

 

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us