
โดย บุญเรือง เลิศวิเศษวิทย์
หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย
ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกให้ความสนใจโดยเห็นได้จากการที่ธุรกิจทั่วโลกต่างพยายามวางแผนกลยุทธ์ความยั่งยืน เพื่อลดการปล่อยมลพิษ และรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ “Circular Economy” ที่มุ่งเน้นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรและพลังงานให้มีของเสียน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย และสามารถนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ในระบบ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ยืดอายุการใช้งานให้เต็มที่ รวมทั้งหาทางนำของเสียมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะเป็นทางออกสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมพลังงาน สาธารณูปโภคและทรัพยากร (Energy, Utilities and Resources) ที่กำลังเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ตามเจตนารมณ์ขององค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN)
โดยรายงาน Taking on tomorrow: The rise of circularity in energy, utilities and resources ของ PwC ได้นำเสนอแนวทางการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานฯ ที่บริษัททั่วโลกสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ ดังต่อไปนี้
ใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิต ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งต่อไปการเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษจะยิ่งแพร่หลายมากขึ้น ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยลดต้นทุน และประหยัดพลังงานที่จะนำไปสู่การสร้างคุณค่าให้องค์กรในระยะยาว
เพิ่มการรีไซเคิล
นอกเหนือจากการหาพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทแล้ว การมีระบบหมุนเวียนที่วัตถุดิบทั้งหมดสามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อนำสินค้าใช้แล้วกลับมาเป็นวัตถุดิบใหม่อีกครั้งจะช่วยทำให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งยังทำให้มีห่วงโซ่อุปทานที่สั้นลงและสามารถใช้แหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ในปี 2560 สหรัฐอเมริกาสามารถนำเศษเหล็กมารีไซเคิลทดแทนการนำเข้าเหล็กโดยตรงได้ถึง 36% ช่วยลดการขาดดุลการค้าของประเทศได้กว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ลดการสูญเสียทรัพยากร
การมีระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะทำให้องค์กรวางแผนกลยุทธ์การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะต้องใส่ใจกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ (Cradle to Grave) เช่น ในธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่พัฒนาการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single-use plastic) ด้วยการนำผลพลอยได้ (Byproduct) จากกระบวนการผลิตหนึ่งไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการผลิตอื่น ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดวัตถุดิบและพลังงานแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยของเสีย ลดต้นทุนการขนส่ง และส่งเสริมการทำงานร่วมกันในองค์กรอีกด้วย
ริเริ่มการเป็นผู้นำระบบการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรหมุนเวียน
กระแสการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องอาศัยแรงผลักดันจากนโยบายภาครัฐ และการมีตลาดใหม่รองรับ ซึ่งธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานฯ จะสามารถหาโอกาสการเติบโตได้หากกลายมาเป็นผู้นำกระแสการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีระบบการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรหมุนเวียน เราจะเห็นว่า ธุรกิจสาธารณูปโภค (Utilities) มีบทบาทสำคัญในการจัดหาพลังงานหมุนเวียนให้กับการดำเนินงานในโรงงานขณะที่ธุรกิจเคมีก็มีบทบาทในการผลิตพลังงานสะอาด ลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก และปรับปรุงห่วงโซ่พลังงานปลายน้ำให้เกิดความยั่งยืน
สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการเป็นพันธมิตรห่วงโซ่อุปทาน
องค์กรส่วนมากมีระบบห่วงโซ่อุปทานแบบเส้นตรง (Linear supply chain) เพื่อการผลิตและส่งมอบสินค้า จึงขาดกระบวนการฟื้นฟูและนำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ซึ่งความท้าทายนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มกระบวนการแต่ยังต้องเชื่อมประสานและสร้างสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานด้วย เพราะระบบห่วงโซ่อุปทานแบบหมุนเวียน (Circular supply chain) จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าหากองค์กรรู้จักที่จะเป็นพันธมิตร และทำงานร่วมกับลูกค้า คู่ค้า รวมถึงผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจอื่น เพื่อพัฒนานวัตกรรมและหาโอกาสในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ
ทบทวนรูปแบบธุรกิจ
องค์กรควรทบทวนและปรับรูปแบบทางธุรกิจ วางตำแหน่งใหม่ในห่วงโซ่คุณค่าที่มีความยืดหยุ่นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น บริษัทน้ำมันสามารถปรับกลยุทธ์จากการผลิตน้ำมันและก๊าซเพียงอย่างเดียวไปสู่การเป็นบริษัทปิโตรเคมีที่ประกอบธุรกิจหลายประเภทที่ต่อยอดผลิตภัณฑ์ (Conglomerate) โดยเปลี่ยนมุมมองจากการมีน้ำมันเป็นสินค้าพลังงาน สู่การเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตและพัฒนากระบวนการรีไซเคิลพลาสติกให้กลับมาเป็นวัตถุดิบ นอกจากนั้น อาจก้าวไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ที่มีน้ำหนักเบาทดแทนเหล็ก
รายงานฉบับดังกล่าว ยังได้แนะนำ 6 ขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานฯ สามารถพัฒนาเข้าสู่การมีระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่อนาคตที่ยั่งยืนกว่าได้ ดังต่อไปนี้
วางแผนปรับสู่ระบบการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรหมุนเวียน ทบทวนว่าปัจจุบันองค์กรมีเส้นทางการผลิตอย่างไร และประเมินโอกาสในการพัฒนาระบบการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรหมุนเวียน ครอบคลุมทั้งภายในและภายนอก
มีกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน วางเป้าหมายการพัฒนาระบบการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรหมุนเวียนขององค์กรแและต้องสื่อสารกับคนในองค์กรและผู้ปฏิบัติงานให้ชัดเจน
วางแผนเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรหมุนเวียน บางองค์กรอาจจะเป็นเพียงขั้นตอนเล็ก ๆ แต่ในบางองค์กรอาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการทั้งหมด โดยผู้นำองค์กรจะต้องทราบถึงศักยภาพของธุรกิจ
พัฒนาความร่วมมือ พัฒนาความสัมพันธ์หรือจับมือเป็นพันธมิตรกับธุรกิจอื่นสร้างระบบนิเวศการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรหมุนเวียน (Circular ecosystem) โดยมีการกำหนดบทบาทที่ชัดเจน สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมและเอื้อต่อเครือข่ายการขนส่ง
วัดผล ตรวจสอบ และสื่อสารความคืบหน้า ดูแลตรวจสอบขั้นตอนต่าง ๆ มีระบบการจัดการ และการรายงานการทำงานสำหรับการวางแผนกลยุทธ์ในอนาคต
เริ่มลงมือปฏิบัติก่อนคู่แข่ง ลูกค้า และผู้กำหนดนโยบาย กำหนดเส้นทางการเปลี่ยนสู่ระบบการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรหมุนเวียนก่อน โดยไม่ต้องรอจนถูกบังคับให้ต้องทำ
อ้างอิง
Marketing and Communications
Bangkok, PwC Thailand
Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29