Fintech Blog

ปรับภูมิทัศน์ฟินเทคอย่างไรให้ธุรกิจติดปีก

31 ตุลาคม 2562
โดย ปัญญธิดา ตรังจิระเสถียร

ปัจจุบันไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (Financial services: FS) เท่านั้นที่มีการนำเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ  “ฟินเทค” (Fintech) เข้ามาประยุกต์ใช้ในการให้บริการลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ เช่น โอนเงินออนไลน์ ลงทุนออนไลน์ ไปจนถึงระบบสกุลเงินดิจิทัล แต่ยังมีอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม (Technology, media and telecommunication: TMT) ที่ได้กลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่เริ่มมีบทบาทในการนำเทคโนโลยีฟินเทคเข้ามาสร้างสรรค์บริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ด้วย เช่น การซื้อสินค้าออนไลน์ การชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือแม้กระทั่งการให้บริการทางด้านแบงก์กิ้ง เป็นต้น 

จากรายงาน Global Fintech Report 2019 ที่ PwC ได้ทำการสำรวจผู้บริหารในกลุ่มธุรกิจบริการทางการเงิน และธุรกิจเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมกว่า 500 ราย พบว่า ไม่เพียงแต่องค์กรที่รู้ว่าจะนำฟินเทคมาใช้เสริมความแข็งแกร่งอย่างไรเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ แต่ความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มธุรกิจทั้ง 2 กลุ่ม ก็ถือเป็นอีกทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะทั้งคู่ต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจบริการทางการเงินอาจมีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎระเบียบข้อบังคับมากกว่าธุรกิจเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม แต่ในทางกลับกัน ธุรกิจเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมก็อาจมีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและสามารถนำมาต่อยอดบริการใหม่ ๆ ได้รวดเร็วกว่าเช่นกัน

 นี่จึงเป็นที่มาของกระแสการจับมือเป็นพันธมิตรของธุรกิจทั้ง 2 กลุ่มในช่วงที่ผ่านมา เพราะการจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดฟินเทคได้ ผู้บริหารต้องปรับเปลี่ยนมุมมอง และหันมาจับมือกัน เพื่อต่อยอดธุรกิจ สร้างสรรค์นวัตกรรมและบริการใหม่ ๆ ให้แก่ผู้บริโภค

แต่อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่ทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจกำลังเผชิญหนีไม่พ้นเรื่องของการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล โดยผลสำรวจพบว่า เกือบ 50% ของทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจมีอุปสรรคในการสรรหาแรงงานที่มีทักษะที่ใช่ นอกจากนี้ ยังต่างต้องการความเชี่ยวชาญจากอีกฝ่ายเข้ามาเสริมด้วย

ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวได้นำเสนอแนวทางที่สำคัญ  4 ประการในการนำฟินเทคมาประยุกต์ใช้ให้ประสบความสำเร็จและช่วยให้ธุรกิจสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

  1. เทคโนโลยี จริงอยู่ว่าปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การนำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจประสบความสำเร็จคือ ความเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าที่แท้จริง ผ่านการสร้างประสบการณ์ที่ดีและนำเสนอทางเลือกที่ตรงกับความชอบและรูปแบบการใช้ชีวิตของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) หรือ บิ๊กดาต้า (Big data) เข้ามาช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า ลูกค้าไม่ได้ต้องการคุยกับระบบอัตโนมัติในทุกเรื่อง แต่ยังต้องการคำปรึกษาจากมนุษย์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ องค์กรต้องให้ความสำคัญกับกฎระเบียบในเรื่องต่าง ๆ และมีมาตรการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และข้อมูลส่วนบุคคลที่รัดกุม โดยสามารถสร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใสจากการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงสามารถชี้แจงถึงเหตุผลของการใช้เทคโนโลยีในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้

  2. แรงงาน ในยุคที่การสรรหาแรงงานที่มีทักษะครบถ้วนไม่ใช่เรื่องง่าย องค์กรต้องรู้จักที่จะสรรหาแรงงานในตลาดอื่น ๆ เข้ามาเสริมทักษะที่ขาด เช่น ธุรกิจบริการด้านการเงินอาจมองหาพนักงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีในตลาดแรงงานเทคโนโลยีหรือสตาร์ทอัพ เพื่อไปต่อยอดทักษะที่ธุรกิจของตนกำลังขาด นอกจากนี้ การเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆ หรือ Upskilling ให้แก่พนักงานขององค์กรก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยองค์กรต้องปลูกฝังแนวคิดการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เช่น ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่ ลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน รวมถึงต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการทำงานในยุคดิจิทัลด้วย เพราะ สุดท้าย “คน” นี่ละที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม 

  3. ความร่วมมือ การควบรวมกิจการ อาจเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจบริการทางการเงิน ธุรกิจเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม และธุรกิจฟินเทค เพราะทุกฝ่ายล้วนได้ประโยชน์จากการประสานจุดแข็งของแต่ละธุรกิจ โดยธุรกิจบริการทางการเงินจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและแรงงานที่มีทักษะได้ ในขณะที่ธุรกิจเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมจะสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ รวมถึงได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ส่วนธุรกิจฟินเทคเอง จะมีโอกาสในการนำนวัตกรรมของตนมาใช้กับลูกค้าในวงกว้างและสามารถเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น

  4. ความเสี่ยงและกฎระเบียบ การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ถือเป็นความท้าทายของทัังธุรกิจเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม และ ธุรกิจบริการทางการเงิน เพราะในขณะที่องค์กรต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สร้างความแตกต่างและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเฉพาะบุคคล ยังต้องมั่นใจด้วยว่าได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับที่ถูกต้อง ดังนั้น การแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญซึ่งกันและกันจะช่วยให้ทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจสามารถปิดจุดอ่อน และเติมเต็มช่องว่างความเชี่ยวชาญระหว่างกันได้

ในยุคที่เทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเฉกเช่นปัจจุบัน การแข่งขันกันเพียงอย่างเดียว อาจไม่นำพาความสำเร็จที่ยั่งยืนมาให้องค์กรได้ การมองหาพันธมิตรทางธุรกิจน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้องค์กรอยู่รอดได้ท่ามกลางพายุเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง และพัดพาเอาผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด หากองค์กรไหนเมินเฉยต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดที่เปิดกว้างขึ้นก็มีความเสี่ยงที่ธุรกิจจะไม่สามารถดึงดูดลูกค้าหรือต่อสู้กับคู่แข่งจากธุรกิจอื่น ๆ ไปได้ตลอดรอดฝั่ง 

ขอให้คิดไว้เสมอว่า “การปรับตัว” ไม่ใช่เรื่องของการอยู่รอดเสมอไป แต่เป็น “การเปิดประตูไปสู่โอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและมุมมองที่แตกต่าง” ให้กับธุรกิจได้ด้วยเช่นกัน

//จบ//

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us