PwC Strategy& Blog

ส่อง “แชมป์ทางด้านดิจิทัล” ผู้นำในการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 

27 เมษายน 2561
โดย กุลธิดา เด่นวิทยานันท์  

ดูเหมือนว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industry 4.0) โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้ากับทุกหน่วยการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ จะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายคน เพราะมีกิจการจำนวนไม่น้อยที่ยังลังเล จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะเลือกลงทุนกับนวัตกรรมประเภทไหนจึงจะเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด และก็มีบริษัทอีกมากที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่มีความรู้ความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีมาใช้กับกิจการ ขณะที่ผู้บริหารบางรายก็ยังไม่ตื่นตัว และขาดกลยุทธ์ที่ชัดเจน

อย่างไรก็ดี ยังมีบริษัทจำนวนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจและกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตนดำเนินกิจการอยู่ ซึ่งเราเรียกบริษัทกลุ่มนี้ว่า แชมป์ทางด้านดิจิทัล (Digital Champion) โดยรายงานล่าสุด 2018 Global Digital Operations Study ของ PwC Strategy& ที่ทำการศึกษาผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนทั้งสิ้น 1,155 รายใน 26 ประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับมุมมองของการปฏิบัติการด้านดิจิทัลในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 พบว่า บริษัทที่จะก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ทางด้านดิจิทัลได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่สามารถเชื่อมโยงระบบนิเวศทางธุรกิจของตน ไม่ว่าจะเป็นบริการโซลูชันส์ให้กับลูกค้า (Customer Solutions) การปฏิบัติการ (Operations) และกำลังคน (People) ให้เข้ากับเทคโนโลยี (Technology) และอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร้รอยต่อ

8 บทสรุปที่น่าสนใจจากรายงาน

(ที่มา: PwC’s Strategy& Global Digital Operations 2018 Survey)

 

ทั้งนี้ บทสรุปจากผลสำรวจที่น่าสนใจและอยากนำมาแลกเปลี่ยนในวันนี้ มีด้วยกันทั้งหมด 8 ข้อ ประกอบด้วย

  1. มีผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่ทำการสำรวจเพียง 10% ที่เป็นแชมป์ทางด้านดิจิทัล ในขณะที่ 2 ใน 3 แทบจะไม่ หรือเพิ่งจะเริ่มกระบวนการเปลี่ยนถ่ายองค์กรไปสู่ดิจิทัล โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ มีผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ และมีการสื่อสารกับลูกค้าหลากหลายช่องทาง เพื่อตอบสนองความต้องการผ่านการเชื่อมต่อระบบปฏิบัติการ เทคโนโลยี และกำลังคนที่มีเข้าด้วยกัน
  2. เอเชียแปซิฟิกเป็นทวีปผู้นำการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ดิจิทัล โดยรายงานพบว่า ภูมิภาคนี้มีผู้ประกอบการที่ถูกจัดให้มีสถานะเป็นแชมป์ทางด้านดิจิทัล ถึง 19% เปรียบเทียบกับอเมริกาที่ 11% ตามด้วยยุโรป ตะวันออกกลาง และ แอฟริกาที่ 5% ทั้งนี้ บริษัทในเอเชียแปซิฟิกมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัล ได้รวดเร็วกว่าคู่แข่งในทวีปอื่นๆ เป็นผลพวงจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจในการใช้เทคโนโลยีอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ผลตอบแทนและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ยังเป็นแรงกดดันที่ทำให้บริษัทในเอเชียต้องเร่งเปลี่ยนถ่ายองค์กรสู่ดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
  3. แชมป์ทางด้านดิจิทัลสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจผ่านการบูรณาการระบบนิเวศการบริการโซลูชันส์ให้กับลูกค้า โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ พัฒนาและปรับปรุงสินค้าและบริการทางด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังสันทัดในเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก โดยมีเครื่องมือและซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย พร้อมที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยรายงานพบว่า มากกว่า 50% ของรายได้ของผู้ประกอบการที่เรียกได้ว่าเป็น แชมป์ทางด้านดิจิทัลนั้น มาจากสินค้าและบริการทางด้านดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่า การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ จะช่วยเพิ่มรายให้องค์กรได้ถึง 15% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
  4. แชมป์ทางด้านดิจิทัลให้บริการลูกค้าแบบครบวงจร โดยผสมผสานระบบปฏิบัติการ เทคโนโลยี  และบุคลากรเข้าด้วยกัน อย่างที่กล่าวไปว่า ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีความสามารถในการให้บริการลูกค้าได้อย่างครบวงจร ผ่านการมีระบบนิเวศทางด้านดิจิทัลที่เหมาะสมและการมีเครือข่ายพันธมิตรที่มีประสิทธิภาพ โดยรายงานยังพบด้วยว่า มากกว่า 3 ใน 4 ของผู้ประกอบการในกลุ่มที่เป็นแชมป์ทางด้านดิจิทัลนี้ มีความสามารถทั้งในด้านการบริการโซลูชันส์ให้กับลูกค้าและการจัดการระบบนิเวศของการปฏิบัติการ
  5. แชมป์ทางด้านดิจิทัลใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันในลักษณะห่วงโซ่คุณค่าแบบครบวงจร โดยพบว่า ผู้ประกอบการที่เป็นแชมป์ทางด้านดิจิทัลมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสำคัญๆ ที่มีส่วนช่วยในการเปลี่ยนถ่ายองค์กรสู่ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบครบวงจร เทคโนโลยีของสรรพสิ่ง การประมวลผลสถานะ และการผลิตของเครื่องจักร รวมไปถึง การใช้หุ่นยนต์ และ โซลูชันส์การซ่อมบำรุงเชิงพยากรณ์ต่างๆ ทั้งนี้ กุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการกลุ่มนี้คือ ความสามารถในการเชื่อมต่อเทคโนโลยีทั่วทั้งองค์กรควบคู่ไปกับการมีพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ แทนที่จะทำงานแบบโดดเดี่ยว โดยแนวทางดังกล่าว ยังคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนให้กับองค์กรได้ถึง 16% ในระยะ 5 ปีข้างหน้า
  6. เอไอจะเข้ามาปฏิวัติคุณภาพของการตัดสินใจเชิงปฏิบัติการ เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันระดับของการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ เข้ามาใช้กับภาคธุรกิจเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยส่วนใหญ่ เอไอถูกนำไปใช้จัดการงานเอกสาร หรืองานที่มีความซ้ำซ้อนทั่วไป ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว  ศักยภาพของเอไอยังมีอยู่อีกมาก โดยในระยะต่อไป เอไอจะถูกนำมาใช้ในการตัดสินใจเชิงปฏิบัติการมากขึ้น รายงานของ PwC’s Strategy& ระบุว่า ปัจจุบัน มีเพียง 9% ของผู้ประกอบการที่ถูกสำรวจเท่านั้นที่บอกว่า ตนได้มีการนำเอไอไปใช้ปรับปรุงการตัดสินใจเชิงปฏิบัติการแล้ว ขณะที่ 1 ใน 3 บอกว่า ได้มีการนำเอไอมาประยุกต์ใช้กับงานในฟังก์ชันหลักๆ ทั่วทั้งองค์กร ขณะที่ผู้บริหารมากกว่าครึ่งบอกว่า ยังขาดพนักงานที่มีทักษะในการนำระบบเอไอมาใช้ นี่ยังไม่รวมถึงผู้บริหารที่ยังลังเลไม่กล้าใช้เอไออย่างเต็มรูปแบบเพราะไม่มั่นใจความสมบูรณ์ของข้อมูลที่ได้จากระบบเอไอ
  7. การเปลี่ยนถ่ายไปสู่ดิจิทัลจะช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างความมั่งคั่ง รายงานระบุว่า การเปลี่ยนถ่ายไปสู่ดิจิทัลและระบบอัตโนมัติจะช่วยเพิ่มมูลค่าจีดีพีโลกถึง 14% ในปี 2573 หรือคิดเป็น 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น เพราะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน และช่วยให้บริษัทพึ่งพาการเก็งกำไรในแรงงานที่มักเกี่ยวข้องกับการเอาท์ซอร์สหรือการจ้างงานในต่างประเทศน้อยลง ขณะที่สามารถเพิ่มผลผลิตของตลาดภายในประเทศได้มากขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลที่มากขึ้นก็จะยิ่งส่งผลทำให้ผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์ หรือพนักงานที่มีทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ หรือ ทักษะสะเต็ม จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0
  8. มนุษย์เป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ดิจิทัล ผู้นำองค์กรในกลุ่มที่เป็นแชมป์ทางด้านดิจิทัลมากกว่า 70% มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับอนาคตของดิจิทัลและเป็นแบบอย่างให้กับคนในองค์กรในการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ดิจิทัล นอกจากนี้ ยังลงทุนในการพัฒนาบุคลากร และการฝึกอบรมพนักงานเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ใช้นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานทั่วทั้งองค์กร อย่างไรก็ดี 2 ใน 3 ของบริษัททั้งหมดที่ทำการสำรวจ บอกว่าตนยังไม่มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้ และมีเพียง 27% ที่บอกว่า พนักงานของตนมีคุณสมบัติที่ต้องการ และรองรับการประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ๆ

จาก 8 ข้อสรุปข้างต้น น่าจะเป็นประโยชน์และช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทย หรือแม้กระทั่ง กลุ่มอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ เห็นถึงแนวโน้มและเร่งปรับตัวไปสู่กระบวนการการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

//จบ//  

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us