Technology Blog

คัมภีร์ 5 กลยุทธ์การบริหารผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่ธุรกิจต้องรู้

26 กรกฎาคม 2560, โดย กุลธิดา เด่นวิทยานันท์

 

เราต่างทราบกันดีว่า การที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัลได้ ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ รวมไปถึง ความเข้าใจในตัวอุตสาหกรรมทั้งด้านดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่

แต่นั่นอาจจะยังไม่พอ เพราะหากบริษัทขาดกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและการสื่อสารที่ต่อเนื่องกับลูกค้า ก็ยากนักที่บริษัทนั้นๆ จะเป็นผู้ครองตลาดหรือมีความได้เปรียบในการแข่งขัน แล้วองค์กรต่างๆ ต้องวางกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัลอย่างไร ถึงจะสามารถอุดช่องโหว่ดังกล่าวได้

ล่าสุด Strategy& ภายใต้เครือข่ายของ PwC ได้ทำการศึกษาถึงวิธีการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์และบริการทางดิจิทัล (Digital Product Management) ผ่านรายงาน Experience matters: The Five commandments of digital product management โดยทำการสัมภาษณ์ผู้บริหารองค์กรเทคโนโลยีชั้นนำ เช่น อเมซอน และ กูเกิล ซึ่งประกอบธุรกิจดิจิทัลเต็มตัว และบริษัทที่กำลังเปลี่ยนแปลงระบบให้เข้าสู่ดิจิทัล เช่น กลุ่มโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล และ ไมโครซอฟ เป็นต้น

จากรายงานดังกล่าว ผู้เขียนขอแบ่ง 5 กลยุทธ์นี้ออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
 

ขั้นตอนแรก คือ การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์ที่ 1 ความใส่ใจลูกค้าต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง (Become a customer zealot)

รายงาน ยกตัวอย่าง จีเมล์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ดิจิทัลของกูเกิลที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี โดย จีเมล์ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่รับ-ส่งอีเมล์ทั่วไปเท่านั้น แต่ยังสามารถให้ผู้ใช้งานแชร์เอกสาร จัดเก็บข้อมูล หรือแม้กระทั่งทำการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นๆ ผ่านการใช้ Cloud-based workspace ด้วยฟังก์ชันที่ง่ายต่อการใช้งาน ทำให้ลูกค้าไม่ต้องกังวลเรื่องขนาดและคลังในการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัล และสามารถติดต่อสื่อสารและใช้งานจีเมล์ได้อย่างครบถ้วน สะท้อนให้เห็นถึง ‘พันธกิจ’ ของกูเกิลที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกมิติ

นอกเหนือไปจากการมอบคุณค่าและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า โดยไม่จำกัดอยู่เพียงรูปลักษณ์และฟังก์ชันการทำงานแบบเดิมๆ ที่นำเสนอเท่านั้น การมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการขาย ไม่ว่าจะผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือ โซเชียล มีเดีย ก็จะยิ่งช่วยทำให้ลูกค้ารู้สึกอุ่นใจ เมื่อมีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลนั้นๆ

กลยุทธ์ที่ 2 ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Develop globally, customise locally)

“One size doesn’t fit all” ยังคงเป็นถ้อยคำติดหูที่ผู้ประกอบการนำไปใช้ได้ เมื่อต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลไปสู่กลุ่มลูกค้าในทั่วทุกมุมโลก โดยต้องศึกษาถึงความแตกต่างของวัฒนธรรม ภาษา รวมไปถึง กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของแต่ละตลาด เพื่อให้สามารถออกแบบและปรับแต่งผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลจากเทคโนโลยีพื้นฐานได้อย่างเหมาะสม

ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องทำงานใกล้ชิดกับทีมพัฒนาในการปั้นสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ในแต่ละประเทศ อีกทั้งต้องมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการตลาดด้านดิจิทัลต่างๆด้วย

ขั้นตอนถัดมา คือ การต่อยอดการวิจัยและพัฒนา

กลยุทธ์ที่ 3 ทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (Pilot and learn continuously)

หลังจากเข้าใจความต้องการของลูกค้าในเบื้องต้นแล้ว บริษัทต้องเร่งพัฒนาสินค้าและบริการนำร่องรวมทั้งทำการทดลองสินค้าก่อนออกสู่ตลาดเพื่อให้ธุรกิจรู้ว่า ผลิตภัณฑ์และบริการแบบไหนที่จะประสบความสำเร็จเมื่อออกสู่ตลาดจริง โดยการทดลองนั้นต้องมีการทำซ้ำเพื่อให้แน่ใจ และสำรวจความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในแต่ละขั้นตอนการทดลองทุกครั้ง เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพ  

รายงาน ยกตัวอย่าง ‘เฟซบุ๊ค’ ที่มักพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกมา แล้วทดลองกับกลุ่มผู้ใช้ในหลายตลาดๆ ก่อนที่จะรีบประเมินว่าฟีเจอร์ไหนใช้งานได้ และฟีเจอร์ไหนไม่ เช่น ปุ่มแสดงความรู้สึกที่ถูกพัฒนาให้มีหลากหลายมากขึ้น โดยในช่วงแรกเฟซบุ๊คได้เริ่มทดลองการใช้ฟีเจอร์นี้ในยุโรปบางประเทศ ก่อนที่จะให้ผู้ใช้งานทั่วโลกได้ใช้งานจริง

ขั้นตอนสุดท้าย คือ การวิเคราะห์ และวัดผล

กลยุทธ์ที่ 4 เลือกตัวชี้วัดความสำเร็จที่ใช่ (Judge success with the right metrics)

สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจดิจิทัล อาจไม่ได้อยู่ที่รายได้กับต้นทุน หรือ ผลกำไรเสมอไป ตัวชี้วัดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบนมือถือ หรือ จำนวนผู้ใช้งานประจำต่างหากที่อาจเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จได้ดีกว่า เพราะข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น รายงานของ Strategy& ได้ยกตัวอย่าง ซิงก้า บริษัทเกมบนโมบายและโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่มักเปิดตัวเวอร์ชันเกมใหม่ให้ดาวน์โหลดฟรีอยู่บ่อยๆ โดยไม่สนใจรายได้ แต่จะคอยติดตามข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น อัตราการใช้ จากนั้นจึงเริ่มมองหาวิธีการสร้างรายได้จากเกมหรือฟีเจอร์ที่กำลังเป็นที่นิยม

กลยุทธ์ที่ 5 วิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงอย่างชาญฉลาด (Gain expertise in data and analytics)

‘ข้อมูล’ คือหัวใจสำคัญของผลิตภัณฑ์ดิจิทัล แต่ข้อมูลจะเป็นประโยชน์สูงสุด ก็ต่อเมื่อองค์กรเข้าใจและสามารถวิเคราะห์เพื่อนำมาใช้ต่อยอดธุรกิจเท่านั้น  ซึ่งผู้ประกอบการต้องสร้างระบบข้อมูลที่เป็นเหมือนแผงควบคุม ที่สามารถเลือกใช้ตัววัดที่ต้องการและติดตามผลได้แบบเรียลไทม์ เช่น บริษัทแห่งหนึ่งพยายามที่จะปรับปรุงประสบการณ์ออนไลน์ของลูกค้าให้ดีขึ้น จึงได้จัดตั้ง "ดาต้าวอร์รูม" ที่ผู้บริหารสามารถติดตามความเคลื่อนไหว และการมีส่วนร่วมของลูกค้าผ่านไลฟ์ฟีดและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ทันที

สิ่งที่ผู้เขียนหยิบยกมาเรียบเรียงข้างต้น คือ กลยุทธ์ที่บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านดิจิทัลชั้นนำของโลกต่างลองผิด ลองถูกมาแล้ว และได้ข้อสรุปออกมาตามรายงานที่ Strategy& นำเสนอ ในส่วนธุรกิจด้านดิจิทัลของไทย ก็สามารถเรียนลัดจากผู้ที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ได้เช่นกัน เพียงแค่ศึกษา วิเคราะห์ พัฒนา และทดลอง หรือแม้กระทั่ง จ้างผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาจากภายนอกเข้ามาช่วยวางแผน ไม่แน่ว่า วันหนึ่งธุรกิจของคุณอาจประสบความสำเร็จเช่นพวกเขาก็เป็นได้

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us