“ปฏิวัติระบบไอที” รับมือการแข่งขันโลกยุคดิจิทัล

 

29 มิถุนายน 2560

โดย กุลธิดา เด่นวิทยานันท์

ท่ามกลางกระแส ‘เทคโนโลยีดิจิทัล’ ที่เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ฟินเทค’ ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายด้าน

ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของบรรดา “ฟินเทค สตาร์ทอัพ” ผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน หรือจะเป็นการปรับตัวของธุรกิจบริการทางการเงินที่หันไปเป็นพันธมิตรกับฟินเทคสตาร์ทอัพ การให้เงินสนับสนุน หรือมีโครงการเพื่อบ่มเพาะธุรกิจเป็นของตัวเอง เพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ได้รวดเร็วมากขึ้น

การตื่นตัวของผู้ประกอบการธุรกิจบริการทางการเงินในช่วงที่ผ่านมา นำมาซึ่งโอกาสในการปรับปรุงโครงสร้างไอทีขององค์กรและการลงทุนด้านระบบรักษาความปลอดภัยจากโลกไซเบอร์ ที่จะต้องควบคู่กันไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับหน่วยงานไอทีนั้นๆ และขยายขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร

โดยจากรายงาน 2017 Financial Services Trends ที่ PwC ร่วมกับ Strategy& จัดทำขึ้นระบุว่า ธุรกิจบริการทางการเงินต้องอัพเดทรูปแบบการดำเนินการของระบบไอทีองค์กรเสียใหม่ และลดความซ้ำซ้อนของระบบไอทีแบบดั้งเดิม (Legacy System) โดยปรับโครงสร้างบริหารจัดการจากแบบรวมศูนย์ไอที (Centralised) เป็นแบบกระจายศูนย์ (Decentralised) โดยให้ไอทีถูกฝัง หรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง (Embedded IT) ของหน่วยธุรกิจในองค์กร เพื่อลดขั้นตอนที่เกิดจากการรวมศูนย์ไอที ทำให้องค์กรนั้นๆ ขาดความคล่องตัวในการทำงาน และมีการตอบสนองที่ช้าไม่ทันกับสภาวะการแข่งขันด้านการบริการทางการเงินในขณะนี้

รายงานระบุว่า การกระจายศูนย์ไอทีให้เกิดประสิทธิภาพนั้น ควรต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีได้เข้าไปทำงานโดยตรงกับหน่วยธุรกิจนั้นๆในองค์กร จากเดิมที่อาจทำงานเชื่อมต่อกันผ่าน “เอพีไอ” หรือ Application programming interface (API) โดยองค์กรที่สามารถกระจายศูนย์ไอทีในรูปแบบดังกล่าว จะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ผ่านระบบดิจิทัลที่พวกเขาพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และนำเสนอออกสู่ตลาดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ภายใต้ระยะเวลาและงบประมาณที่จำกัด และทำให้องค์กรสามารถนำเงินทุนที่เหลือไปพัฒนาแหล่งรายได้ใหม่ๆ

ซึ่งนอกจากจะใช้งบลงทุนที่น้อยกว่าแล้ว ยังเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อลูกค้า เพราะช่วยให้การรวบรวม แลกเปลี่ยนข้อมูล และโต้ตอบระหว่างกันเป็นไปด้วยความรวดเร็วมากขึ้นด้วย 

 

ทำไมต้อง ‘Embedded IT’

แนวทางการอัพเดทรูปแบบการปฏิบัติการไอทีขององค์กรนี้ ยังสอดคล้องกับรายงาน Financial services technology 2020 and beyond: Embracing disruption ของ PwC ซึ่งระบุว่า นี่คือ 1 ในภารกิจด่วนที่ธุรกิจบริการทางการเงินต้องเร่งปฏิบัติภายในปี 2563 เพราะการแข่งขันกับบริษัทฟินเทคกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ความก้าวหน้าด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมเชิงลึกของลูกค้าจะยิ่งช่วยให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน แพลตฟอร์มและโปรแกรมประยุกต์รูปแบบใหม่ตอบโจทย์ความต้องการมากขึ้น รวมถึง แนวโน้มในการกลับเข้ามาลงทุนภายในประเทศของผู้ประกอบการธุรกิจบริการทางการเงินมากขึ้น หลังจากค่าแรงในประเทศที่ตนขยายระบบงานหลังบ้านไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย และ โปแลนด์ ปรับตัวสูงขึ้น และความก้าวหน้าของวิทยาการหุ่นยนต์และการใช้เทคโนโลยีสื่อสารปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ รายงาน 2017 Financial Services Trends ยังได้แนะนำ 4 ขั้นตอนสำหรับองค์กรหรือสถาบันการเงินที่ต้องการอัพเดทรูปแบบการปฏิบัติการไอทีขององค์กร ดังนี้

1. ประเมินระบบปฏิบัติการด้านไอทีขององค์กรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ว่าโครงสร้างไอทีที่มีอยู่ยังเป็นแบบดั้งเดิม หรือ มีความยืดหยุ่นเพียงพอ หรือทั้งสองอย่าง และถ้าเปลี่ยนระบบไอทีใหม่ขอบเขตของการเปลี่ยนจะมากหรือน้อยแค่ไหน

2. ระบุปัญหาที่สำคัญของระบบที่ใช้ โดยพิจารณาว่าองค์กรพอใจกับความสามารถของไอทีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่ ระบบไอทีเดิมมีประสิทธิภาพสมกับค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปหรือเปล่า ถ้าไม่ มีจุดไหนที่ผิดพลาด

3. กำหนดสิ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง โดยพิจารณาจากวิสัยทัศน์ขององค์กรในระยะยาว ประโยชน์ที่จับต้องได้ เม็ดเงินและระยะเวลาการลงทุนที่ต้องการ รวมทั้งสร้างให้เกิดแรงสนับสนุนในการเปลี่ยนแปลงจากผู้บริหาร ระบบปฏิบัติการ และฝ่ายเทคโนโลยี

4. ระบุแผนงานที่จะทำประมาณ 5 ถึง 8 อย่างและร่างโร้ดแมปที่ต้องการพัฒนาให้ชัดเจน ว่าแผนไหนที่จำเป็นต้องลงมือทำเป็นอันดับแรกในการเปลี่ยนถ่ายระบบไอทีแบบเดิมขององค์กรไปสู่องค์กรไอทีรุ่นใหม่

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริหารจัดการไอทีขององค์กรที่กล่าวมา แน่นอนว่า อาจต้องอาศัยเวลาและส่งผลกระทบต่อฝ่ายไอทีองค์กรและการตัดสินใจลงทุนในหลายมิติ แต่เมื่อผู้ประกอบการธุรกิจบริการทางการเงินได้ปรับโครงสร้างไอทีที่จำเป็นแล้ว ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า องค์กรของคุณจะสามารถพัฒนาสินค้าและบริการด้านดิจิทัลออกมาสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วขึ้น บริหารต้นทุนได้ดีขึ้น และที่สำคัญ แข่งขันกับฟินเทคสตาร์ทอัพ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

Contact us

Marketing and Communications

Bangkok, PwC Thailand

Tel: +66 (0) 2844 1000, Ext. 4713-15, 18, 22-24, 26, 28 and 29

Follow us